เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่

 

ตรวจสน.หัวหมาก-25/02/2556
ตรวจสน.หัวหมาก-25/02/2556

หมู่นี้ไม่รู้เป็นไง ข่าวเกี่ยวกับความประพฤติในทางเสื่อมเสียของตำรวจ ปรากฏทางสื่อมวลชนกันแทบทุกสัปดาห์    ทั้ง ๆ ที่เรามีผู้นำที่ดูจะเข้มข้นจริงจัง ที่จะสร้้าง “ภาพใหม่” ให้ปรากฏอย่างพี่อู๋ “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รวมทั้งเรามีระบบการควบคุมระบบการตรวจสอบภายในที่ดูเหมือนจะเข้มแข็ง แต่ก็ยังไม่วายที่จะพบการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปรากฏให้เห็นอยู่เนือง ๆ ทำให้วิสัยทัศน์ของท่านผบ.ตร.ที่อยากจะเห็นความเป็น “ตำรวจมืืออาชีพ” ดูยังคงเลือนลางห่างไกลความเป็นจริงอยู่มากโข

แต่ยังไงก็ตาม หากวิเคราะห์เจาะลึกแล้วมองด้วยความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เวลาที่เราเห็นข่าวไม่ดีไม่งามของตำรวจ บางทีเราอาจจะมองเห็นอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ ดังตัวอย่างคลิปวิดีโอเรื่องที่ผมกำลังจะเอามาเป็นตัวอย่างให้ดู พิจารณาผิวเผินแล้วก็น่าจะเป็นเรื่องตำรวจจราจรเรียกรับผลประโยชน์จากผู้กระทำผิดกฏหมาย ไม่ต้องคิดมาก เรื่องนี้ตำรวจตกเป็นจำเลยสังคมเต็มประตู แต่ดูก่อน พี่น้องครับ ผมอยากจะแยกแยะประเด็นอย่างนี้ครับ ประเด็นแรก คนขับรถคันดังกล่าวกระทำผิดจริงตามที่ถูกตำรวจกล่าวหาหรือไม่ แล้วก็ดูเหมือนคนขับคันดังกล่าวฟังจากคำพูดคำจา อากัปกริยา น่าจะเป็นคนที่มี “แต้มต่อ” ทางสังคมมากพอดู การศึกษา อาชีพ ก็คงสูงส่งพอสมควรเหมือนกัน ดังนั้นการรับรู้เรื่องกฏบัตรกฏหมาย ก็คงไม่บกพร่องเป็นแน่


ประเด็นต่อมา การกระทำของคนขับดูเหมือนเป็นการจงใจ “ขุดบ่อล่อปลา” หรือการ “ตกเบ็ด” มากกว่าที่จะให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ เป็นการล่อให้เหย่ือมาติดเบ็ด โดยที่ก็รู้อยู่แล้วว่า “กระบวนการยุติธรรมข้างถนน” แบบนี้ ตำรวจชั้นผู้น้อยที่ “แต้มต่อ” ทางสังคมแทบจะไม่มีให้เห็น จะสามารถตกเป็นเหยื่อ โดยที่คนตกเบ็ด ที่สามารถเอาเหยื่อมาประจานให้โลกได้รู้ผ่านทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วแบบนี้ จะสามารถเป็นพระเอก ได้รับคำชื่นชม ได้รับเสียงตบมือ จนสามารถเป็นฮีโร่ได้ด้วยความเหนือชั้นกว่าในทุก ๆ ด้านเมื่อเทียบกับความเป็น “ตำรวจชั้นผู้น้อย”

ประเด็นสุดท้าย ที่ผมอยากจะให้สังคมคิดร่วมกัน แล้วต้องช่วยกันพยายามฝ่าฝันให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริง ๆ ก็คือความรู้หน้าที่ของแต่ละฝ่าย แล้วมุ่งมั่นทำตามหน้าที่ โดยเฉพาะฝ่ายผู้ให้ ซึี่งอันที่จริงแล้วน่าจะเรียกว่าผู้ “ติดสินบนเจ้าพนักงาน” ด้วยซ้ำ หากไม่มีการให้ ไม่มีการเห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรมข้างถนนเช่นนี้ เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ก็คงไม่มีให้เห็นเป็นแน่ แต่เรื่องอย่างนี้ เกิดมาช้านานซ้ำแล้วซ้ำเล่าเปรียบเหมือน “ผีเน่ากับโลงผุ” เจอกันเมื่อไหร่ก็แยกไม่ออกว่าใครถูกใครผิด แต่เวลานำเอาไปพูดกันในสังคม ตำรวจซึ่งแต้มต่อในสังคมไม่มีให้เห็นอยู่แล้วก็คงต้องเป็นฝ่ายผิดวันยังค่ำ

จราจร

และแน่นอน ตำรวจ ผูับังคับบัญชาตำรวจ คงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบเรื่องนี้ได้ การลงโทษลงทัณฑ์ คงต้องตามมาเป็นแน่ การขอความเห็นอกเห็นใจในฐานะ “ชั้นผู้น้อย” คงฟังไม่ขึ้น และไม่สามารถเรียกความเห็นใจจากสังคมได้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งเล่า…จะมีใคร หน่วยงานไหน ที่จะมาทำหน้าที่ตามล่าหาความผิดแล้วนำมาสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ว่าคุณก็เป็นส่วนหนึ่งของความผิดด้วย….ฤาสังคมประเทศนี้จะพิกลพิกาล ฤาสังคมประเทศนี้จ้องจะทำลายล้างกันแต่คนที่มี “ที่ยืนน้อยนิด” ในสังคม….ก็โปรดพิจารณาร่วมกันเถิด

เพื่อนผมบางคน คิดเลยไปว่า กรณีอย่างนี้ จะ”เอาคืน” พวกชอบติดสินบนเจ้าพนักงานในคดีจราจรดีมั๊ย….ด้วยการแอบถ่าย ด้วยการขุดบ่อล่อปลาย้อนศรกันไปเลย เพื่อความสะใจ เพื่อประจานให้สังคมรู้่เหมือนกันว่า ไม่ใช่แต่ข้าที่ผิด เอ็งก็ผิดด้วย….แต่ช้าก่อนครับเพื่อน….อย่างที่ผมบอกแล้วว่า ตำรวจเป็นอาชีพที่มีแต้มต่อทางสังคมน้อย ไม่มีใครเค้าอยากเข้าข้าง หรือเห็นดีเห็นงามด้วย หรือแรงกระเพื่อมไหวทางสื่อที่จะเอาผิด “ผู้ให้” มันอาจจะมี แต่คง “น้อยมาก” แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องของ “จรรยาบรรณ” รวมทั้ง “อุดมคติ” ของความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ครับพี่น้อง โดยเฉพาะในข้อที่หนึ่งที่ว่า “เคารพเอื้อเฟื้่อต่อหน้าที่”

ครับการ “เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่” กินความหมายได้กว้างขวางมาก แต่หากจะสรุปย่อเพื่อให้เห็นภาพเทียบเคียงในเชิงธุรกิจก็คือ เราต้องดูแลลูกค้า ซึ่งก็คือประชาชนให้ดีที่สุด ด้วยจิตใจเอื้อเฟื้อโดยถือเสมือนว่าลูกค้าเป็นคนสำคัญ จะไป”จับผิด” หรือจะไป “เอาคืน” ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง….แล้วยิ่งมาตบด้วยอุดมคติข้อเกือบสุดท้าย ที่สมัยเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ เราได้รับการย้ำนักย้ำหนา ถึงความสำคัญในข้อนี้ นั่นก็คือในเรื่อง “อดทนต่อความเจ็บใจ”…ครับอาชีพของพวกเราเป็นอาชีพที่สังคมค่อนข้างจะให้ค่าน้อย เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องให้คุณให้โทษกับคนในสังคม แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งก็คงไม่อาจปฏิเสธได้หรอกครับว่า พวกเราบางคน ออกนอกลู่นอกทางบ้างเหมือนกัน เพราะฉะนั้่น การที่สังคม “ให้ค่า” กับพวกเราน้อย คงไม่ใช่เรื่องผิดปกติเท่าไรนัก ซึ่งเราก็คงต้องก้มหน้ายอมรับ และหาทางร่วมมือร่วมใจกัน เดินหน้าทำดี ทำสิ่งที่ประชาชนเค้ายอมรับมากขึ้น เพื่อว่าวันหนึ่ง แต้มต่อทางสังคมของพวกเราดีขึ้น พวกเราก็จะได้ยืดอกทำงานได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่ใช่ว่าจ้องที่จะเอาคืนประชาชน หรือแก้แค้น ประชาชน….อย่าเลยครับ ผิดอุดมการณ์ของผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ และที่สำคัญ “เสียฟอร์ม” การเป็น “มืออาชีพ” ครับ พี่น้อง

จราจร 2และก่อนจบวันนี้ ผมอยากเอาอุดมคติตำรวจ อุดมคติของพวกเรามาเตือนใจพี่น้องตำรวจของพวกผมอีกซักครั้ง ….ฟังบ่อย ๆ ครับ ฟังซ้ำ ๆ ย้ำไปย้ำมา ผมเชื่อว่าการตอกย้ำอุดมการณ์ของพวกเราบ่อย ๆ น่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเป็น “ผู้พิทักษ์สันติราษฏร์” ที่ประชาชนยอมรับมากขึ้นครับ

2 thoughts on “เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่

  1. เขียนได้ดีครับ สื่อไทยรวมถึงคนไทยส่วนใหญ่ชอบมองเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะมุมมองของตัวเอง อารมณ์และประสบการณ์ของตัวเอง ตัดสินปัญหาโดยไม่ได้มองสาเหตุของปัญหานั้นๆอย่างรอบด้าน เพราะในปัญหานี้ทุกครั้งจะจบโดยที่ตำรวจจะถูกประนามหยามหมิ่น และการลงโทษทั้งทางสังคมและกฎหมาย แต่ผู้ร่วมกระทำผิดนั้นก็มิเคยได้ถูกดำเนินการใดๆ ทั้งทางสังคม กฎหมาย หรือแม้นแต่หยิบยกเป็นประเด็นสะท้อนปัญหาอย่างนี้ ผมว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรหยิบยกเรื่องนี้สะท้อนสาเหตุของปัญหาต่างๆจริงๆ ให้สังคมได้ตระหนักและร่วมรับผิดชอบกันบ้าง มิใช่ลอยตัวกันอย่างนี้ ผมแอบหวังลึกๆว่า “พี่แรกคงได้มีโอกาสพูดคุย หรือเป็นคณะทำงานในการขับเคลื่อนสะท้อนสาเหตุของปัญหา ตลอดจนเสนอหนทางในการแก้ปัญหาต่างๆให้กับ ข้าราชการตำรวจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศึกษาและเปรียบเทียบตำรวจในสากลโลกนี้ในประเทศที่เจริญแล้ว ตำรวจของเขาปฏิบัติงานอย่างไร แล้วเขาตอบแทนตำรวจของเขาอย่าง แล้วเปรียบเทียบกัน แล้วควรจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไรจึงจะเป็นสากล มาตรการในการลงโทษตำรวจอย่างไรเมื่อทำผิด และปูนบำเหน็ญอย่างไรเมื่อทำดี ต้องชัดเจน) และต้องนำเสนอสู่เวทีสาธารณะ และต้องร้องถามสังคมเป็นระยะในการเปลี่ยนแปลง อย่ายอมให้มันผ่านไป โดยไม่เรียกร้องอะไร…….เหมือนกับที่สังคมเรียกร้องว่า ให้ตำรวจทำงานแบบมืออาชีพ หรือว่าจะให้ทำงานแบบมือ(ด้วนๆ)อาชีพ………..(ผมเบื่อสังคมที่เรียกร้องกันจัง แต่ไม่เคยให้)

ใส่ความเห็น