ผมอยู่ในวงการตำรวจ จะว่าไปแล้วหากนับตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 1 จนกระทั่งถึงวันนี้ พ.ศ.2557 ก็นับว่า 30 ปีเข้าไปแล้ว ตลอดระยะเวลาของการ “มีอาชีพเป็นตำรวจ” ยอมรับเลยนะครับ ว่า “ไร้ทิศทาง” ผู้บริหารในแต่ละยุค หรือในทุกระดับ ทำงานในลักษณะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทิศทางเรื่องการพัฒนา ทิศทางแก้ปัญหาระยะยาว อย่าหวังว่าจะได้เห็น พวกเรา รวมถึงตัวผมเองด้วย ต่างก็หมกมุ่นอยู่กับการแก้ปัญหารายวัน จนกระทั่งอยุ่มาวันหนึ่ง เราได้เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ กับการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่ิมมีทิศทางที่แน่นอน และสิ่งที่เป็นตัวกำหนดทิศทางที่แน่นอนของตำรวจนี่แหละครับ ที่เราเรียกกันว่า “วิสัยทัศน์”
ไอ้เจ้าวิสัยทัศน์ หลายๆ คนอาจจะเข้าใจผิด หรือเข้าใจว่ามันเป็นเพียงประโยคคำขวัญเท่ ๆ ประจำตัวผู้บังคับบัญชา ซึ่งผมก็เชื่อว่าผู้บังคับบัญชาหลาย ๆ คนที่ผ่านมาก็อาจจะคิดอย่างนี้ด้วยซ้ำ ดังนั้นการขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ จะแทบไม่มีให้เห็น
มาวันนี้ องค์กรตำรวจ เริ่มนำวิสัยทัศน์ มาใช้เป็นตัวขับเคลื่อนองค์กร เป็นการขับเคลื่อนอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน ผมขอเปรียบวิสัยทัศน์ เป็นเหมือนเรามีจุดหมายว่าจะไปเชียงใหม่ เพราะฉะนั้นทุกคนก็ต้องมุ่งหน้าไปเชียงใหม่ด้วยกัน ทีนี้การไปเชียงใหม่ มันก็ไปได้หลายวิธี ตรงนี้หล่ะครับที่ผู้นำก็จะต้องร่วมกันวางยุทธศาสตร์ว่าจะไปเชียงใหม่อย่างไร หากมียุทธศาสตร์การไปเชียงใหม่ 3 ด้านไปทางรถ ไปทางรถไฟ ไปทางเครื่องบิน ต่อไปก็ต้องกำหนดกลยุทธ์หละครับ ว่าจะไปรถหน่ะไปถนนเส้นไหนดี จะทำอย่างไรให้ถึงเร็วที่สุดประหยัด ปลอดภัยที่สุด ส่วนพวกจะไปเครื่องบินก็เหมือนกัน ก็ต้องมากำหนดกลยุทธ์ว่าจะใช้สายการบินประเภทไหน แบบต้นทุนต่ำดีไหม แล้วจะจองยังไงถึงจะได้ราคาต่ำสุด ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งมันทำให้เรามีทิศทางการทำงานเป็นไปในทางเดียวกัน
ทีนี้มาถึงเรื่องวิสัยทัศน์ขององค์กรเรา ที่ว่า “เป็นตำรวจมืออาชีพ เพื่อความผาสุกของประชาชน” เรามาลองวิเคราะห์แยกแยะทีละประโยค เอาประโยคแรกก่อน คำว่า “เป็นตำรวจมืออาชีพ” มันเป็นยังไง ผมยืนยันเลยนะครับ ว่ามันคนละเรื่องกับมีอาชีพเป็นตำรวจ ความเป็นมืออาชีพ หรือ Professional เนี่ย มันไปไกลเกินกว่าการมีอาชีพรับเงินเดือน มันเป็นการทำงานที่ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ แต่สิ่งที่แสดงความเป็นมืออาชีพ มันจำเป็นต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 ประการด้วยกัน นั่นคือ
1. ต้องมีความรู้จริง ในงานที่ตนรับผิดชอบ….ก็ลองเปรียบอย่างงี้ซิครับ ถ้าเราไปหาหมอ แล้วปรึกษาอะไร หมอก็ตอบไม่ได้ ได้แต่พูดว่า… “ไม่รู้ซินะ” อย่างงี้แสดงว่าหมอคนนั้นขาดความเป็นมืออาชีพ ฉันใดฉันนั้น หากเราเป็นตำรวจ เอาเป็นว่าหากเป็นตำรวจสายตรวจ แล้วมีชาวบ้านมาถามถึงวิธีป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ ที่จอดในบ้าน ถ้าเราทำอ้ำๆ อึ้ง ๆ หรือตอบไม่ได้ อย่างงี้จะไปเป็นตำรวจทำไม
2. ต้องมีทักษะ ในงานที่ตนรับผิดชอบ….เช่นกัน หากหมอผ่าตัด ไม่มีความชำนาญ งก ๆ เงิ่น ๆ หันไปถามพยาบาล อยู่ร่ำไป ขาดทักษะในการเป็นหมอผ่าตัด อย่างงี้ เราจะกล้าไปผ่าตัดกับหมอคนนั้นรึเปล่า …เหมือนกัน หากเป็นตำรวจ การวิ่งไล่จับคนร้าย การใส่เครื่องพันธนาการ ยังทำเหมือนยามหน้าบริษัท ไม่มีทักษะเฉพาะ ไม่มีวิธีการเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัย รวมทั้ง ทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมาย ให้ทางฝ่ายผู้ต้องหาฟ้องเอาอีก …อย่างงี้หล่ะครับ ที่เรียกว่า ไม่มีความเป็นมืออาชีพ
3. ต้องมีประสบการณ์…มืออาชีพต้องมีประสบการณ์ครับ บางคนถามว่า อ้าวแล้วงั้นเด็ก ๆ ก็เสียเปรียบซิครับ ไม่ใช่อย่างงั้นครับ ประสบการณ์เป็นสิ่งที่สร้างได้ครับ สร้างได้จากการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ และทำไปอย่างอัตโนมัติ …นี่แหละครับมืออาชีพ
4. มืออาชีพต้องมีคุณธรรม ครับ โดยเฉพาะอย่างย่ิง อาชีพอย่างเรา อาชีพที่ต้องตัดสินชีวิตคน ซึ่งการเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คนขาดอิสระภาพนี่หล่ะครับ คุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งผมคิดว่า บางครั้งหากมีสิ่งที่ต้องตัดสินใจ ระหว่างถูกกฎหมายแต่ผิดคุณธรรม ผมคิดว่า คนเป็นมืออาชีพ ควรจะต้องยึดคุณธรรมเป็นหลัก และสุดท้ายต้องกล้ารับผิดชอบในสิ่งที่ตนตัดสินใจไปในทางที่ถูกต้องในระบบคุณธรรม
5. มืออาชีพ ต้องมีภาพลักษณ์ที่ดี….แน่นอนหล่ะครับ ภาพลักษณ์ที่ดี แต่งตัวดี ผมสั้นฟันขาวรองเท้ามัน อาวุธ เครื่องไม้เครื่องมือ ครบถ้วน …อย่างนี้ใครเห็นก็เกิดความมั่นใจครับ ว่าเราจะช่วยดูแลชีวิตทรัพย์สินเค้าได้ แต่ถ้าแต่งตัวก็โทรม ผมยาว หนวดเคราไม่เคยโกน รองเท้าก็ขุดมาจากสมัยกรุงสุโขทัย ถึงจะเก่งแสนเก่ง แต่ความมั่นใจเมื่อแรกพบ มันไม่ทำให้เชื่อได้ว่าจะทำงานให้เค้าได้ครับ …เพราะฉะนั้น ภาพลักษณ์ ภาพปรากฎของการเป็น “มืออาชีพ” ก็มีความสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ เลยครับ
พูดมาซะยาว มาถึงประโยคท่านที่สองครับ ที่ว่า “เพื่อความผาสุกของประชาชน” …นี่แหละครับ คือวัตถุประสงค์ของการทำงาน ทำเพื่ออะไร ถ้าเพื่อความสุขของเจ้านาย ก็คงต้องมียุทธศาสตร์ อย่างหนึ่ง แต่ถ้าเพื่อ “ให้” ความสุข ความผาสุก กับประชาชน มันก็ต้องมีการกำหนดวิธีการที่สามารถบรรลุเป้าประสงค์ให้ได้
หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงทำหน้างง ๆ แล้วถามว่า มันจะเกี่ยวกับเรื่อง ไอโอ เรื่องปฏิบัติการข่าวสารยังไง ….เกี่ยวซิครับ เกี่ยวมากด้วย แล้วยิ่งเราต้องร่วมกันทำหน้าที่กับส่วนต่างๆ ของงานตำรวจ งานไอโอ หรืองานปฏิบัติการข่าวสาร ก็ต้องถือเป็นภารกิจ “แถวหน้า” ของงานตำรวจด้วยเหมือนกัน แต่ก่อนจะลงลึกไปกว่านี้ ผมขอให้มองภาพกว้าง ๆ ของงาน “อำนวยการ” ตำรวจก่อนแล้วกันครับ