การทำ io (Information Operation) หรือการทำการปฏิบัติการข่าวสาร เป็นเรื่องของ “กระบวนการ” ดังนั้นเมื่อเป็นกระบวนการ แน่นอนว่าต้องมี “ผู้ร่วมกระบวนการ” ไม่สามารถทำงานอย่างโดดเดี่ยว เดียวดายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานใหญ่ ๆ อย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยแล้ว กระบวนการการทำทีมไอโอ ยิ่งต้องได้รับการรับรอง รับรู้ ของผู้บริหารองค์กรในทุกระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับสถานีตำรวจ จนถึงระดับสูงสุดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจาก หากเผลอผิด พลาดพลั้งไป มันหมายความถึงความ “พ่ายแพ้” ในเชิงสังคม ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากวันนี้มีตำรวจไทยหัวใจไอโอคนหนึ่ง ปล่อยภาพตำรวจจูงคุณยายสูงวัยข้ามถนน แต่ภาพที่ถ่าย ไม่ได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองมา เนื่องจากมุมที่ถ่าย ทำให้อาจถูกตีความไปได้ว่า “คุณยายสูงวัยน้ำใจงาม จูงตำรวจหนุ่มข้ามถนน”….(ฮา !)
เริ่มต้นด้วยการทำ “ทีมไอโอ”
ทีมไอโอ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำไอโอ เป็นจุดเริ่มต้น เป็นแหล่งสร้างชื่อ ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นแหล่ง “หมดอนาคต” ของใครหลายคน ดังนั้น การสร้างทีมไอโอ จำเป็นต้องใช้ความพิถีพิถัน คัดเลือกคนเข้ามาร่วมงาน ไม่ว่าจะหน่วยงานในระดับย่อยเช่นกองกำกับ ระดับบริหารเช่นกองบังคับการ กองบัญชาการ หรือว่าที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็ตาม จะต้องมีการ “คัดเลือก” ตัวกันสักหน่อย ไม่ใช่ว่าเอาใครก็ได้มาร่วมทีม หรือสักแต่ว่าเอาคนที่ชอบนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือเป็นพวกมนุษย์ไอที มาเป็นทีม จงจำไว้เสมอว่า คนที่อยู่ในทีมไอโอ ไม่จำเป็นต้องเป็น “มนุษย์คอมพิวเตอร์” (แต่ถ้าเป็นด้วย ก็จะเกิดประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก)
เมื่อคัดคนได้แล้ว ทีนี้ก็ต้องมาเข้ากระบวนการ “ปรับทัศนคติ” …เอ๊ย กำหนดบทบาทให้คนเหล่านั้นรู้ว่า จะมาทำอะไร ไม่ใช่เอามาเป็นทีโฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นทีมที่จะเอาของดีที่หน่วยของตนเองมีอยู่มาบอกกล่าวกับสังคม แน่นอนว่าก่อนจะทำอย่างนั้นได้ต้องผ่านการอบรม ซึ่งการอบรมนี้ก็จะเป็นการอบรมทั้งเรื่องหลักการการทำไอโอ จะถ่ายรูปอย่างไร จะเอารูปไปเผยแพร่อย่างไร เขียนโปรยหัวอย่างไรให้ดึงดูด ถ่ายคลิปอย่างไรให้มีคนเข้ามาดู ฯลฯ
ถึงเวลา “ผลิตงาน”
หลังจากที่ทีมไอโอเข้าใจบทบาทและหน้าที่แล้ว ก็มาถึงการเริ่มต้นทำงาน นั่นคือการ “ผลิตงาน” ซึ่งแน่นอน ก่อนออกไปผลิตงาน จะต้องผ่านการ “วิเคราะห์ แยกแยะ” ให้ดีก่อนว่า จะผลิตงานออกมาในแนวไหน เช่นหากวิเคราะห์มาแล้วว่า ช่วงนี้ประชาชนในพื้นที่รถจักรยานยนต์หายกันเยอะ จะทำไอโออย่างไรเพื่อให้ประชาชนรู้วิธีการในการโจรกรรมรถ หรือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนอุ่นใจว่าตำรวจได้ทำอย่างเต็มที่ ทำดีที่สุดแล้ว ในการระวังป้องกันรถหาย ซึ่งหากโจทก์ออกมาเป็นอย่างนี้ บทความในการไอโอ ภาพ หรือคลิปที่จะปล่อยออกไป ก็จะต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งการที่จะเขียนบทความอย่างไร ถ่ายภาพอย่างไร ถ่ายคลิปอย่างไร เราจะไว้พูดในรายละเอียดกันอีกทีในเรื่องของการผลิตภาพ ผลิตคลิป ผลิตบทความต่าง ๆ
จะว่าไปแล้ว เวลานี้ที่แม้ว่าการทำไอโอของตำรวจไทย เริ่มจะมีปริมาณที่พอไปวัดไปวา ไปอวดชาวบ้านเค้าได้ แต่ก็ยังไม่ถึงกับ “โดน” แบบจัง ๆ เนื่องจากว่า เราผลิตแบบไม่ได้ผ่านกระบวนการ “คิดก่อนทำ” พวกเราสักแต่ว่าทำตามอารมณ์ วันนี้อยากจะเสนอเรื่องอะไร ภาพอะไร ไม่ได้ดูอารมณ์ของตลาด อารมณ์ของลูกค้าว่าต้องการอะไร หรือว่า ต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าอะไรกำลังเป็น “จุดอ่อน” ของเราอยู่ ก็ต้องหาหนทาง “กำจัดจุดอ่อน” นั้นโดยเร่งด่วน จงจำไว้ว่าเรื่องดีต้องทอดเวลาให้อยู่ในกระแสให้นาน ส่วนเรื่องไม่ดีให้หลุดไปจากกระแสเร็วที่สุด
ได้เวลา “ปล่อยของ”
การแชร์ โดยเฉพาะในยุคของ “ใคร ๆ ก็เป็นสื่อมวลชน” ได้ ในวันที่แทบจะทุกหัวระแหง ไม่ว่าจะยากดีมีจนต่างมีสมาร์ดโฟน เป็นของตัวเอง การ “ปล่อยของ” จึงถือเป็นเรื่องปกติของคนยุคปัจจุบัน การแชร์ถือเป็นพิธีกรรมของคนในศตวรรษนี้ โดยเฉพาะการถ่ายภาพอาหารเริ่ด ๆ แล้วแชร์กันไปในโลกออนไลน์
ดังนั้นที่ผมพูดว่าการไอโอ มันไม่ใช่เรื่องจำกัดวงเฉพาะคนไอทีอีกต่อไปแล้ว มันจึงไม่น่าจะเกินเลย การไอโอเป็นเรื่องที่ “ใคร ๆ ก็ทำได้” แต่….เดี๋ยวก่อน จะแชร์อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ตรงเป้าเข้าประเด็นนี่ซิ มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใคร ๆก็ทำได้
การรู้ช่องทาง และประเภทของสื่อสังคมออนไลน์ ที่เหมาะสมกับ “ของที่จะปล่อย” ถือเป็นหัวใจสำคัญในการปล่อยของให้ตรงเป้า ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์ที่อยากจะแนะนำให้ใช้ จนถึงขนาดว่า “ต้องใช้” มีด้วยกันหลายตัว ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของคนปล่อยของ เช่น ถ้าต้องการเผยแพร่คลิปวิดีโอ แน่นอนว่า Youtube เป็นตัวแม่ในเรื่องนี้ หรือหากต้องการแชร์ภาพสวย ๆ วันนี้ Facebook หรือ Line ก็ยังเป็นแหล่งที่ยังคงอยู่ในกระแส แต่หากจะอวดรูปสวย ๆ แล้วให้คนมาติดตามกัน instagram ก็เป็นสื่อที่มองข้ามไม่ได้ ถ้าอยากกระจายข่าวให้นักข่าวส่วนใหญ่รู้ Twitter ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่นักข่าวในประเทศ หรือทั่วโลกเค้านิยมใช้กัน ถ้าอยากจะเขียนบทความหรือมีเว็ปไซต์ ที่เป็นลักษณะ Blog เป็นลักษณะสื่อ Social Media แล้วละก็ นาทีนี้ต้องเป็นเจ้าตัวนี้เลย WordPress
อย่างไรก็ตาม สื่อทุกยี่ห้อที่ผมว่าไว้ข้างต้น มันสามารถเชื่อมโยงกันได้….น่าอัศจรรย์มาก สำหรับความเก่งของสื่อสังคมออนไลน์ในยุคสมัยนี้ เช่นว่า เราเอาคลิปวิดีโอไปแปะไว้ใน Youtube มันจะสามารถเชื่อมโยงไปทุกสื่อ ที่ผมสาธยายไว้ข้างต้น เรียกว่าทำงานครั้งเดียวครอบคลุมไปทุกสื่อ หรือถ้าเราเขียนบทความแสดงใน Blog WordPress มันก็จะสามารถเชื่อมโยงไปเผยแพร่ใน Facebook ใน Line ได้ด้วย โดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรใหม่….โอ้…มายสิทธัตถะ มันเยี่ยมมากเลยยยย !
ผมคงไม่พูดถึงเรื่องการปล่อยของในสื่อแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ เนื่องจากว่า สื่อเหล่านั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และที่สำคัญ มันเป็นความไม่แน่นอนว่า สื่อเหล่านั้นจะสามารถไปถึงกลุ่มเป้าหมายของเราได้มากน้อยแค่ไหน ถึงเวลาถ้าปล่อยของไปแล้ว มันอาจจะลอยวูบเดียวหายไปในอากาศ โดยที่เราไม่สามารถย้อนไปดูย้อนไปฟังได้อีก ผมจึงอยากจะเน้นย้ำเฉพาะการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งใช้ได้ดี ใช้ได้ฟรี และที่สำคัญมีประสิทธิภาพกับกลุ่มเป้าหมาย
วิเคราะห์ของที่ปล่อย
ปล่อยของเสร็จแล้ว ก็อย่าลืมกลับมาดู กลับมาวิเคราะห์กันด้วยนะครับว่า เสียงตอบรับบวกลบเช่นไร ถ้าเสียงตอบรับดี …แน่นอน ตอกย้ำมันเข้าไป แต่ถ้าเสียงตอบรับเป็นลบ ก็แน่นอนอีกเช่นกัน ต้องรีบ “เอามันออกไปจากกระแส” โดยเร่งด่วน
และนี่ก็เป็นบทสรุปแบบง่าย ๆ ของการสร้างทีมไอโอ และการปฏิบัติการโดยสรุป คราวหน้าผมจะมาคุยให้ฟังในรายละเอียดเรื่องอื่น ๆ ที่คั่งค้างเอาไว้…ติดตามอ่านได้ในตอนต่อไปครับ