ประเทศไทย 25 มีนาคม 2562 ผ่านพ้นวันเลือกตั้งทั่วไปมา 1 วัน หลังจากอัดอั้นตันใจมาเกือบ 8 ปี…อนิจจา เด็กสิบขวบในวันนั้น ที่ยังไม่รู้ประสีประสา ในวันที่น้ำท่วมกรุงเทพ ฯครั้งใหญ่ ใครเป็นใครก็คงยังไม่มีโอกาสรู้จัก ถ้าจะมีภาพจำบ้างบางส่วน ก็น่าจะยังได้เห็นผู้หญิงวัยกลางคนกว่า ๆ หน้าตาสะสวย กับชายหนุ่มวัยใกล้เกษียณ แต่ยังดูกระฉับกระเฉง แต่งกายคล้ายทหาร ยืนทำสีหน้าคล้ายกับเป็นทุกข์ร้อน อยู่บนท้ายกระบะรถขนส่งแบบทหาร แล้วค่อย ๆ เคลื่อนที่ฝ่ากระแสน้ำ เข้าไปแจกข้าวของ ถุงยังชีพ ให้กำลังใจพี่น้องประชาชนสองข้างทางที่กำลังสาปแช่งภัยธรรมชาติที่มาเยือนโดยมิได้เชื้อเชิญ
ภาพที่เห็น หากไม่ต้องมีคำบรรยาย การตีความตามภาพที่ถูกเผยแพร่ออกมาทางสื่อ น่าจะตีความ หญิงสาวหน้าตาสะสวยนางนั้น กับชายฉะกรรจ์มาดสุภาพบุรุษในชุดเขียวน่าจะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ช่วยเหลือประชาชนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก และแน่นอน ภาพดังว่าเป็นการทำงานร่วมกันในภารกิจแรก ๆ ของการก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย แบบงง ๆ จะตั้งใจหรือเปล่าหรือมีคนจัดสรรให้ไม่ทราบแน่ แต่ที่แน่ ๆ ภาพ ๆ เดียวที่ถูกตีความในการทำงานอย่างขะมักขะเม้นกับท่านผู้นำกองทัพ ทำเอากองเชียร์ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก มั่นใจได้เลยว่าการบ้านการเมืองช่วงต่อจากนั้นจะต้องสงบเรียบร้อย และเกิดความร่วมมือที่ดีระหว่างการเมืองกับกองทัพ ซึ่งจากประวัติศาสตร์ความเป็นชาติไทย หากทั้งสองส่วนเข้ากันไม่ได้เหมือนน้ำกับน้ำมันบ้านเมืองคงไม่ราบรื่นเป็นแน่
จากบทเรียนข้างต้น เพียงแค่ภาพ ๆ เดียวก็อาจทำให้มูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้น พุ่งขึ้นกระฉูดแบบที่นักลงทุนในหลายประเทศก็คงรู้สึก งง ๆ กับปรากฏการณ์เช่นนี้ แต่สำหรับสยามประเทศ มันเป็นปรากฎการณ์ที่คนในประเทศเข้าใจได้ ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งภาพลักษณะดังว่า หากย้อนหลังไปสัก 20 ปี ในวันที่อินเตอร์เน็ต ยังคงเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มเดียว อาการกระเพื่อมไหวจากการเสพภาพก็คงยังไม่เกิดผลกระทบอะไรมากนัก แต่สิบปีให้หลังมานี้ ในวันที่อินเตอร์เน็ต เปรียบเสมือนโครงสร้างพื้นฐานของคนในประเทศ และโทรศัพท์มือถือ เป็นอุปกรณ์เสมือนปัจจัยที่หก ที่ไม่ว่าคนจะยากดีมีจน มีสิทธิ์เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ไม่แพ้กัน และดูจะเป็นเครื่องมือแสดงความเท่าเทียมของการเข้าถึงข้อมูลของพลเมืองโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ อาการสั่นสะเทือนจากการเสพภาพเพียงภาพเดียวจึงทำให้เกิดผลกระทบได้อย่างที่คนในอดีตไม่เคยสัมผัสมาก่อน
มาถึงวันนี้ เรื่องส่วนตัวของศิลปินนักร้องบางคน ที่จะว่าไปแล้วไม่ได้พิสดาลพันลึกเกินเลยไปกว่านิยายปรำปราเรื่องขุนช้างขุนแผน แต่กลับมีคนเข้าไปเสพ เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ ซ้ำร้ายสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่อง วิทยุทุกคลื่น ที่ถือกันว่าเป็น “สื่อแบบดั้งเดิม” ก็ยังเอาข่าวในโลกออนไลน์มาต่อยอด มาวิพากษ์วิจารณ์กันไม่นอยไปกว่าเรื่องนาฬิกาการเมือง
เรื่องของคุณป๊อบ ปองกูล หรือที่ฉายาว่า “ป๊อบโลกสองใบ” เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในทุกช่องทางของสื่อกระแสหลัก ทั้งทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ซึ่งแหล่งข่าวที่สื่อกระแสหลักเหล่านั้นนำมารายงาน รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ต่อ ก็ไม่ได้มาจากแหล่งข่าวปฐมภูมิ หากแต่เป็นแหล่งข่าวที่มาจากสื่อสังคมออนไลน์เกือบจะทั้งหมด การพาดหัวข่าว หรือการอ่านเปิดหัวของผู้ดำเนินรายการต่างขึ้นต้นด้วยความรู้สึก หรือการวิพากษ์สถานการณ์ของ “ชาวเน็ต”
“ชาวเน็ต”….คนพวกนี้เป็นใครกันแน่ เหตุใดจึงมีอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของคนในประเทศ รวมทั้งสื่อกระแสหลักจนเข้ามากินพื้นที่ข่าวการเมืองซึ่งอยู่ระหว่างช่วงชุลมุน เตรียมการเลือกตั้งกันอยู่ แต่ความคิดเห็นของ “ชาวเน็ต”กลับมีพลังมากกว่าเรื่องสำคัญของบ้านเมือง จนถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันในสื่อทุกแขนง….ใช่แล้วครับ เรากำลังอยู่ในยุคที่ทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน อาชีพไม่เกี่ยว การศึกษาไม่เกี่ยง แต่มีพื้นที่แสดงออก รวมทั้งพื้นที่รับสารอย่างเท่าเทียมกัน มันเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยแบบเป็นรูปธรรมที่สุดตั้งแต่กำเนิดมนุษยชาติมา
ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากการมีพื่นที่ในการ “ปล่อยของ” แบบเท่าเทียมกันแล้ว ในทางกลับกัน พื้นที่ “รับสาร” ก็มีความเท่าเทียมไม่แพ้กัน เพียงแต่มีเครื่องมือสื่อสารที่เรียกว่า “สมาร์ทโฟน” ที่สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเตอน์เน็ตได้ บรรดาข่าวสาร ไม่ว่าข่าวสารที่เป็นความรู้ ความบันเทิง ความเคลื่อนไหวในบ้านเมือง หรือรอบโลก ก็สามารถดึงมาอยู่ในมือเจ้าของเครื่อง “สมาร์ทโฟน” ได้ทุกที่ ทุกเวลา
และถึงตรงนี้อาจสรุปได้ว่า ศควรรษนี้ ได้เปลี่ยน “ระบบนิเวศน์ในการรับรู้ข่าวสารของผู้คนในโลกไปอย่างสิ้นเชิง” เครือข่ายที่เรียกว่าอินเตอร์เน็ต นอกจากเปลี่ยนวิถีของผู้คนในการสื่อสาร การเชื่อมโยงข้อมูล หรือแม้กระทั่งการทำมาค้าขายแล้ว ยังทำให้ผู้คนบนโลกสามารถเป็นทั้งผู้ส่งสาร ที่ทำหน้าที่ได้ไม่แพ้สถานีโทรทัศน์ วิทยุ หรือสำนักพิมพ์ ได้ไม่แพ้กัน หากเนื้อหาน่าสนใจ และขณะเดียวกัน
หากอยากรู้ อยากเรียน หรือมากไปกว่านั้น อยาก “เสือ….” เรื่องอะไร ความรู้บนโลกออนไลน์ ก็มีประเคนให้ไม่เลือกสถานที่ และวันเวลาเช่นกันหากอยากรู้ อยากเรียน หรือมากไปกว่านั้น อยาก “เสือ….” เรื่องอะไร ความรู้บนโลกออนไลน์ ก็มีประเคนให้ไม่เลือกสถานที่ และวันเวลาเช่นกัน
ปรากฎการณ์นี้ บอกอะไรกับเรา….เรากำลังอยู่บนโลกที่สถานีโทรทัศน์ สถานีข่าว สำนักพิมพ์ สถานีวิทยุ สามารถเกิดขึ้นได้พร้อม ๆ กัน แบบที่เจ้าของสถานีไม่ต้องสอบใบผู้ประกาศ ไม่ต้องลงทุนด้วยเงินลงทุนหลักหลาย ๆ ล้าน ไม่ต้องมีรถถ่ายทอดสด และที่สำคัญ “ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องของข่าว” แต่สามารถสรรหาอะไรบนโลกมายัดเยียดให้กับคนบนโลกใบนี้ได้แบบพร้อม ๆ กันคราวละหลายล้านช่องสถานีข่าว และในทางกลับกัน เราสามารถหาความรู้บนโลกใบนี้ได้ โดยไม่ต้องสอบเข้าโรงเรียน ไม่ต้องเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย จากแหล่งความรู้ทั่วโลกได้พร้อม ๆ กันหลายล้านแหล่ง…ซึ่งบทสรุปที่ว่านี้ จะเป็นกุญแจสำคัญไปสู่การใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า “สื่อสังคมออนไลน์” (Social Media) ในการดำเนินการปฏิบัติการพิเศษบางอย่างที่ถูกเรียกว่า “ปฏิบ้ติการข่าวสาร” หรือ ไอโอ ที่มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Information Operations ซึ่งก่อนจะไปถึงเรื่องนี้ ผมขอพามารู้จักของประสิทธิภาพ การทะลุทะลวงข้อมูลของเครื่องมือที่ชื่อว่า สื่อสังคมออนไลน์อีกสักสองสามตอน…แล้วเจอกันนะขอร้าบบบบ