สื่อสังคมออนไลน์กับสถานการณ์รอบไทย-สถานการณ์รอบโลก

หากย้อนหลังไปสัก 20 ปีที่แล้ว ช่วงเวลาแห่งการหาเสียงเป็นกอบโกยของธุรกิจสิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณาหาเสียง เครื่องเสียง รถขยายเสียง หรือหากยกระดับขึ้นมาสักหน่อย ก็คงเป็นพวกบริษัทออร์แกไนเซอร์….แต่ในวันนี้ ใครจะคิดว่า ธุรกิจที่ลืมตาอ้าปากได้จากการรณรงค์เลือกตั้ง จะต้องประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากผู้เล่นรายใหม่ ที่ชื่อ Social Media ได้เข้ามาทำหน้าที่นั้นเกือบจะทั้งหมดก็ว่าได้

ในระดับอินเตอร์หน่อย สมัยอดีตประธานาธิบดีบารัคโอบามา การใช้ Twitter รณรงค์หาเสียง รวมทั้งการใช้ในการสื่อสารกับคนอเมริกันในขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้การรับรู้ถึงวิธีคิด รวมทั้งผลงานของท่านประธานาธิบดี ส่งตรงไปถึงมือประชาชนทั้งประเทศได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านระบบราชการ และแน่นอนความรวดเร็วในการสื่อสารโดยตรง บวกกับบุคลิกภายนอก เป็นคนหนุ่มที่ดูกระฉับกระเฉง ภาพโดยรวมของท่านประธานาธิบดีโอบามา จึงเป็นภาพของคนรุ่นใหม่ที่ดูทันสมัย ประเด็นใดที่จะเป็นประเด็นปัญหา ก็สามารถชี้แจงได้โดยตรง และในทางกลับกัน สามารถหยั่งรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมได้โดยตรง ซึ่งความป๊อบปูล่าร์ ทันสมัย ดูเป็นกันเองเช่นนี้ จึงทำให้มีผู้ติดตามท่านประธานาธิบดีโอบามา ณ วันนี้มากกว่า 100 ล้านคน และดูจะเป็นนักการเมืองที่มีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ มากที่สุดในโลกเสียด้วย

มาที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการคนปัจจุบัน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่หลายคนไม่นึกไม่ฝันว่านักการเมืองฝีปากกล้า แสดงออกหลาย ๆ เรื่องในลักษณะ “ขวานผ่าซาก” ว้นนี้จะได้รับเลือกจากคนอเมริกันให้มาทำหน้าที่ผู้นำประเทศกับเขาได้เหมือนกัน แน่นอนว่า การรณรงค์หาเสียงของคุณทรัมป์ คงไม่ได้เดินเคาะประตูบ้านเหมือนกับการเลือกตั้งส.ส.ในบ้านเรา การพบปะผู้คนตามเวทีดีเบตก็ตาม ตามเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรคก็ตาม ซึ่งเป็นการรณรงค์แบบดั้งเดิมก็คงต้องเดินหน้าไป แต่การรณรงค์พูดนโยบายแบบถึงตัวคนอเมริกันโดยผ่าน ทวิตเตอร์ เป็นสิ่งที่คุณทรัมป์ แกมีความชำนาญไม่น้อยไปกว่านักการเมืองคนใดในโลกเหมือนกัน และเพราะความที่แกเป็นนักการตลาดระดับหมื่นล้านมาก่อน มีหรือว่ากลยุทธ์ในการสรรหาข้อความ สรรหาภาพที่กระแทกใจคน จะน้อยหน้าคนอื่น ๆ และการทวีตของแกก็ใช่ว่าจะจบแค่เรื่องการรณรงค์หาเสียง การใช้ชีวิตประจำวันของแก ไม่ว่าจะเรื่องอะไร สังคมโลกเป็นต้องเห็นความเคลื่อนไหวของแกผ่านสื่อสัญลักษณ์นกสีฟ้านามทวิตเตอร์ กระทั่งเรื่องราวที่ค่อนข้างจริงจัง อย่างนโยบายต่างประเทศ บางครั้งก็ยังถูกคุณทรัมป์ ระบายลงไปผ่านทวิตเตอร์ ด้วยตัวแกเองไม่ต้องผ่านคณะทำงานกลั่นกรองข้อมูลให้เมื่อย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เสมือนความจริงใจของท่านประธานาธิบดีในทุกเรื่อง ที่ส่งตรงถึงมือประชาชน ผ่านทวิตเตอร์ ซึ่งระดับเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างแก คงคิดดีแล้วแหละครับ ว่าทำอย่างนี้มันกระแทกใจประชาชนดี

และถึงแม้ว่า ยอดคนติดตามคุณทรัมป์ในทวิตเตอร์ จะมีมากไม่เท่ากับโอบาม่า แต่กับจำนวน 50 กว่าล้านผู้ติดตาม ซึ่งไม่ใช่น้อยเลยสำหรับนักการเมืองอายุอานามเกิน 60 อย่างทรัมป์ ก็ถือได้ว่าไม่ธรรมดา

กลับมาที่เมืองไทยบ้าง ถึงแม้ว่าเพิ่งผ่านสงครามการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งกันมา และจะยังมีทีท่าทะเลาะกันไม่เลิก ซึ่งก็คงต้องปล่อยไปตามเวรตามกรรมของคนในประเทศต่อไป ที่ไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร เพราะต่างเป็นคนเก่ง คนดี คนรักชาติด้วยกันทั้งน้านนนน….เรามาพูดเรื่องของเราดีกว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา แม้ว่าสื่อสังคมออนไลน์ที่ชื่อว่าทวิตเตอร์ จะยังมีการใช้อยู่ในวงจำกัด เนื่องจากยุทธศาสตร์ในการใช้สื่อชนิดนี้ ยังไม่ค่อยมีความชัดเจน ประกอบกับความคุ้นเคยกับเฟซบุ๊ค ที่ครองตลาดเมืองไทยมานานกว่า และโดยที่กรุงเทพมหานครถูกขนานนามให้เป็น “เมืองหลวงของเฟซบุ๊ค” ด้วยเป็นเมืองที่มีสถิติผู้ใช้มากที่สุดในโลก ก็เลยทำให้การใช้เฟซบุ๊คในการรณรงค์ทางการเมือง รวมทั้งสื่อยอดนิยมในเมืองไทยตัวอื่น เช่นยูทูป หรือไลน์ ยังคงเป็นที่นิยมมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์คงทำหน้าที่ได้เข้มข้นขึ้น และการกำหนดยุทธศาสตร์ การใช้สื่อชนิดนี้น่าจะมีความชัดเจนขึ้น ถูกกาละเทศะมากขึ้นแล้ว ทวิตเตอร์ น่าจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในบางสถานการณ์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหากเปรียบทวิตเตอร์ ก็น่าจะเป็นสื่อที่ทำหน้าที่คล้ายกับเครื่องบินรบ ที่มีวิถีการยิงที่เร็ว แรง และแม่นยำกับเป้าหมาย ภารกิจสำคัญบางอย่างที่อยากให้ได้ผลตอบรับหรือการรับรู้ที่เร็วและแรง ทวิตเตอร์น่าจะทำหน้าที่ของมันได้ดีกว่า แต่หากต้องการผลแบบซึมลึกไม่รีบร้อน แต่ได้ปริมาณในวงกว้าง เฟซบุ๊ค หรือยูทูป ก็คงต้องรับหน้าที่เช่นนี้ต่อไป เป็นต้น

บทสรุปในเรื่องนี้ก็คือ ประเทศเราก็คงหนีไม่พ้นกับการเปลี่ยนวิธีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารโดยใช้เครื่องมือที่ชื่อ Social Media ซึ่งความสำเร็จในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การค้า การบันเทิง สังคม และโดยเฉพาะการเมือง ก็มีให้เห็นในหลายประเทศมาแล้ว และแนวโน้มลักษณะนี้ ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเปิด ทั้งเปิดรับเทคโนโลยี ความก้าวหน้าแบบเต็มรูปแบบ แบบไร้ขีดจำกัดเช่นนี้ มันก็คงหลีกไม่พ้น เหมือนอย่างหลาย ๆ ปรากฎการณ์ที่ผ่านมา ปัญหาอยู่ที่ว่า เราจะเตรียมตัวใช้ปรากฎการณ์ทางสื่อแบบนี้แบบผู้ชนะ ที่สามารถควบคุมสื่อและใช้ประโยชน์มันได้อย่างเต็มที่ หรือจะเป็นเพียงผู้เสพ ที่ทำหน้าที่นำเข้าข้อมูลเพื่อความบันเทิง เพื่อความสะใจ หรือเพื่อสร้างความแตกแยกในบ้านเมืองต่อไป….ลองตรองดูเถิด

ใส่ความเห็น