
ปีเศษ ๆ ของการเข้ามาดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ตำรวจของพี่อู๋ “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” ทำให้วันนี้ หลาย ๆ คนเริ่มคุ้นเคยกับสไตล์การทำงาน การบังคับบัญชาแบบทางไกล หรือที่เรียกเป็นภาษาทางการว่าการ “ประชุมทางไกล” (Video Conference) ศัพท์แสงต่าง ๆ ที่แต่เดิมดูไม่คุ้นหู เริ่มนำมาพูดกันทุกวันจนคุ้นชิน ซึ่งแน่นอนว่าส่วนมากเป็นศัพท์แสงทางการทหารที่บางคนอาจจะเคยร่ำเรียนมาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารของเหล่าทัพต่าง ๆ ก็คงจะมีความคุ้นเคยอยู่บ้าง
แต่ผมก็ยังมั่นใจว่าหลาย ๆ คนใช้มันทุกวัน พูดมันจนติดปาก โดยยังไม่รู้ความหมายที่แท้จริงว่า “มันคืออะไรกันแน่…ฟะ” ? ….ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งทำท่าที “แอ๊ค” ใช้คำศัพท์เท่ห์ ๆ นั่นกะเค้าบ้างเหมือนกัน หนึ่งในคำศัพท์เจ้าปัญหาที่ว่านั้นก็คือคำว่า IO (ไอโอ) หรือคำเต็ม ๆ ว่า Information Operations แปลเป็นภาษาไทยตรง ๆ ว่า การปฏิบัติการข่าวสาร
ไอ้เจ้า IO นั้นมันคืออะไรกันแน่ สำคัญแค่ไหน แล้วในส่วนของม๋าต๋า ตำรวจไทย จะเอาเจ้า IO นี้ไปใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์จริง ๆ ได้อย่างไร….ลองตามมาสำรวจความคิดของกระพ้มกันนะครับ

ว่ากันว่าการปฏิบัติการข่าวสาร หรือว่าไอ้เจ้า IO นี้เร่ิมเข้ามามีบทบาทสำคัญจริง ๆ หลังสงครามเย็นสิ้นสุด แล้วโลกทั้งโลก ไม่ว่าโลกทางธุรกิจหรือจะโลกทางการทหาร เริ่มเปลี่ยน เริ่มปรับตัวมาสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร ที่เมื่อซักเกือบ ๆ 20 ปีที่ผ่านมามีผู้กล่าวกันว่าข้อมูลข่าวสารคืออำนาจ นั่นหมายความว่า ใครมีข้อมูลในมือคนนั้นก็จะมีอำนาจเหนือคน…ว่าไปนั่น
กล่าวโดยรวบรัดก็คือ การปฏิบัติการข่าวสารก็คือการชิงความได้เปรียบเรื่องข้อมูลข่าวสารนั่นเอง โดยมีสมมติฐานเบื้องต้นว่า ข่าวสารที่แม่นตรงถูกต้องจะทำให้การสั่งการของผู้บังคับบัญชาถูกต้องเกิดประสิทธิภาพไปด้วย และในทางกลับกันข่าวสารที่บิดเบี้ยวไม่ถูกต้องแม่นตรงก็จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามสั่งการผิด ทำงานผิด ผลก็คือความพ่ายแพ้ในสนามรบนั่นเอง
ไอ้ที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น เป็นการกล่าวสรุปรวบรัดแบบลูกทุ่งนะครับ อย่าได้เอาไปอ้างอิงที่ไหนเชียว…อายเค้า แต่ถ้าอยากรู้ข้อมูลเชิงวิชาการแบบขนานแท้ กระพ้มก็ได้จัดเตรียมไว้ให้แล้วครับ สามารถเข้าไปอ่าน เข้าไปดาวน์โหลดตามลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลยครับ …เป็นบทความเรื่องนี้โดยตรง จากจุลสารความมั่นคงศึกษา ซึ่งมีปรมาจารย์การยุทธสมัยใหม่ที่ชื่อ “สุรชาติ บำรุงสุข” เป็นบรรณาธิการ ครับ
(คลิกเพื่อเข้าไปอ่านได้เลยครับ …ปฏิบัติการข่าวสาร : Information Operations โดยสุรชาติ บำรุงสุข)
ทีนี้มาว่าเรื่องของเรากันต่อครับ เรื่องของเรายังไม่จบง่าย ๆ ถ้าหากว่าวันนี้พี่อู๋ ยังคงสั่งผ่าน Video Conference ให้หลาย ๆ หน่วยไปทำ “ไอโอ”…หลายคนหน้าตาตื่นมาถามผมว่า ไอ้เครื่องทำไอโอนี่มันไปหาซื้อได้ที่ไหนฟะ…นัยว่าคุ้น ๆ ว่ามันเป็นเครื่องกรองน้ำ หรือว่าเครื่องทำน้ำแร่ …อะไรประมาณนั้น …ฮา !
หลังจากที่กระพ้ม ได้พากเพียรอ่านสารพัดตำรา ของท่านอาจารย์สุรชาติ รวมทั้งของท่านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาต่างด้าว ก็สรุปความได้ว่า การ “ไอโอ” ในบริบทของความเป็น “ตำรวจไทย” มีความหมาย และการปฏิบัติที่ค่อนข้างจะแตกต่างไปจากความหมายดั้งเดิม จะเป็นด้วยภารกิจ จะเป็นด้วยประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งประเพณีนิยมของตำรวจไทย
และต่อไปนี้เป็นสรุปความหมายของคำว่า “ไอโอ”, IO, Information Operations, หรือ การปฏิบัติการข่าวสาร ในบริบทของการเป็น “ตำรวจไทย” …ผมขอย้ำนะครับว่าในบริบทของ “ตำรวจไทย” ซึ่งไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับตำรวจพม่า หรือตำรวจเขมร ในฐานะเป็นประชาคมอาเซี่ยนเดียวกันอย่างเด็ดขาด… หากเมื่อไหร่ก็ตาม ท่านผู้อ่านได้รับคำสั่งให้ไปทำ “ไอโอ” ….มันหมายความว่าท่านต้องทำสิ่งต่อไปนี้

1. สำรวจความเคลื่อนไหวของข่าวเปิดจากสื่อ ซึ่งรวมถึงทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ทุกชนิด ซึ่ง ณ ปัจจุบัน (พ.ศ.2556) สื่อใหม่ที่ชื่อว่า Social Media มีบทบาทในสังคมโลก “สูงมาก” สูงจนบางครั้งมีบทบาทนำสื่อกระแสหลัก อย่างหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ เสียด้วยซ้ำ สังเกตุได้จากข่าวซุบซิบ หรือข่าวคลิปหลุด ภาพหลุด …อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มักมีจุดเริ่มต้นจากสื่อที่ชื่อว่า Social Media แล้วถูกส่งต่อกันไปในสื่อผู้น้องของ Social Media นั่นก็คือ Social Network ยี่ห้อ Facebook, Twitter หรือสื่อน้องใหม่ไฟแรงที่ชื่อ Line นั่นเอง…โดยคนที่ทำหน้าที่ IO จะต้องเข้าไปดูประเด็นข่าวในเรื่องที่จะทำ แล้วสรุปให้ได้ว่าประเด็นที่กำลังเผยแพร่ในสื่อดังกล่าวในสังคม มีประเด็นใดบวก มีประเด็นใดลบกับเราบ้าง แล้วจง “หาข้อสรุปกับสิ่งนั้น”
2. ประเด็นข่าวด้านใดเป็นบวก…ทำให้คงอยู่ให้ยาวนานที่สุด ประเด็นข่าวด้านใดเป็นด้านลบ…ทำให้ลบออกไปจากกระแสสังคมให้เร็วที่สุด…เรื่องนี้นี่แหละ ที่เป็นหัวใจสำคัญ เป็นเรื่องที่เราต้องใช้ทักษะในเรื่อง “สื่อมวลชนสัมพันธ์” (Media Relations) ซึ่งจะว่าไปแล้ว ไม่ใช่ว่าจะสร้างในวันสองวัน มันต้องมี “กระบวนการ” และกระบวนการดั่งว่า เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ใช้ศิลปะ รวมทั้งต้องใช้ทุนทรัพย์บ้างพอประมาณ เนื่องด้วยสื่อมวลชน จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบอกกล่าวข่าวเชิงบวกกับสาธารณะชน ในขณะเดียวกัน ก็จะคอยปิดปาก ไม่พูดข่าวลบ แต่..ช้าก่อนพี่น้อง วันนี้เรามีเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Social Network มาเป็นตัวช่วยที่ดีมาก มีประสิทธิภาพมาก Social Network จะเป็นเครื่องมือที่เราจะใช้สื่อสารกับสื่อสารมวลชนทุกแขนง รวมทั้งสาธารณะชน ในการชี้แจงเรื่องทุกเรื่อง รวมทั้งในการสร้างภาพความทรงจำที่ดี

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะประสบผลสำเร็จกับการสื่อสารด้วยสื่อที่เรียกว่า Social Network เสมอไป การใช้ Social Network จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ครับพี่น้อง อาทิเช่น ต้องมีความเป็นกันเอง ไม่เป็นทางการจ๋า ต้องรู้จักกลยุทธ์การใช้ถ้อยคำโปรยห้ว หรือ Headline มาสร้างความน่าสนใจ แล้วที่สำคัญ ต้องมีกลยุทธ์ในเรื่องเวลา ไม่ใช่ว่าอยากจะโพสต์อะไร เวลาไหนก็ใส่เข้าไปแบบไม่รู้จักกาละเทศะ ….กลยุทธ์การเลือกรูป การ “สร้างรูป” การ “สร้างคลิป” ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องมีการวางแผน ไม่ใช่ว่า “อะไรก็ได้” ประโคมเข้าไป บางทีนอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังเป็นขยะที่ในระยะเวลาหนึ่ง ก็ทำให้คนเบื่อหน่าย ไม่อยากจะเข้ามาดู มาเกี่ยวขัองด้วย
พูดถึงเรื่อง Social Media รวมทั้งญาติผู้น้องที่ชื่อ Social Network แล้ว คงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันอีกเยอะ ไว้วันหลังเรามาคุยแบบเจาะลึกกันอีกครั้งก็แล้วกันครับ
3. มีทักษะการนำเสนอที่ดี น่าเชื่อถือ เป็นมืออาชีพ….เรื่องนี้ถือเป็นทักษะของการประชาสัมพันธ์ และการประชาสัมพันธ์นี่เอง เป็นเวทีของการ “ปล่อยของ” หลังจากที่ทีมไอโอ ได้ทำการ “ใคร่ครวญ วิเคราะห์ แยกแยะ” (เรียกเป็นคาถาย่อ ๆ ว่า….ค….ว…..ย….อย่า ! อย่าคิดเป็นอื่นโดยเด็ดขาด) การเลือกใช้สื่อ การปรากฏตัวต่อสื่อ การทำเอกสารข่าวแจก หรือแม้กระทั่งก้าวหน้าไปกว่านั้น ก็คือการทำ Video Clip ข่าวแจก และส่งต่อไปตามสื่อทุกแขนง ถือเป็นการใช้ทุกช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน นอกจากนั้น ส่ิงสำคัญก็คือประเด็นที่จะสื่อออกไป ต้องไม่ “เยิ่นเย้อ” ต้อง “ตรงประเด็น” และสื่อที่ข้อจริง ข้อเท็จอย่าได้นำมาสื่อโดยเด็ดขาด เพราะหากสื่อหรือสังคม “จับได้” ว่าส่ิงที่ท่านสื่อออกไปเป็นเท็จ ท่านจะเสียคน เสียความน่าเชื่อถือ แบบไม่ต้องผุดต้องเกิดโดยทันที
พูดถึงเรื่องการทำ “เอกสารข่าวแจก” หรือที่เรียกว่า Press Release นั้น ขออนุญาตเหน็บแนม กระแนะกระแหนหน่อยเหอะครับ ….ด้วยว่าจะเป็นประเพณีนิยมหรืออะไรก็ไม่รู้ การทำเอกสารข่าวแจกกว่าจะเข้าเรื่องได้ บางหน่วยต้องเกริ่นนำแบบเยิ่นเย้อ ประมาณว่า…ตามนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซื่งสื่อมายังผู้นำชาติอาเซี่ยนทุกชาติ รวมถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ซึ่งท่านก็ได้มีบัญชามายังท่านผบ.ตร. ผบ.ตร.ก็เลยสั่งมายังผบช. ผบช.กำชับมายัง ผบก. ผบก.กระเด้งรับ สั่งต่อไปยัง ผกก. ผกก.สั่งรองผกก.สส. รองผกก.สส. สั่งต่อไปยังสว.สส. สว.สส.สั่งผบ.หมู่ ผบ.หมู่ชื่อดาบปื๊ด ก็เลยไปจับครอบครองยาบ้ามาได้ 10 เม็ด….บ้าไปแล้วครับพี่น้อง ไม่ต้องเยิ่นเย้อยืดยาดขนาดนั้นครับ คนอ่านสื่อ ไม่ต้องการรู้หรอกครับ ว่าผู้การ ผู้กำกับ สารวัตร เป็นใคร ชาวบ้านเค้าต้องการรู้เพียงว่า ไอ้เจ้าผู้ต้องหาเนี่ยมันทำอะไรผิดมา แล้วโดนจับด้วยข้อหาอะไร มีพฤติการณ์ที่น่าสนใจเป็นประโยชน์กับคนที่เค้ารับทราบข่าวสารอย่างไร…ประมาณนี้ครับ ไม่ต้อง “เยอะ”
และทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นสรุปเรื่องการปฏิบัติการข่าวสารในบริบทตำรวจไทย สุดท้ายสำหรับวันนี้ …ผมสรุปเป็นคำบรรยายแบบง่าย ๆ สำหรับมิตรรักแควนเพลงที่อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ ได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วแต่ท่านหล่ะครับ…แล้วก็เป็นคู่มือประกอบการบรรยายของกระพ้ม ในสถานที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยครับ คลิกเข้าไปอ่านที่ลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลยครับ
ปฏิบัติการข่าวสารในบริบทตำรวจไทย ตอนที่ 1
Police and Media Relations : Training Course@BKK
ดีมากเลยครับพี่…อยากให้ตำรวจหลายๆคนได้ศึกษาทำความเข้าใจครับ!!
ขอบคุณครับ
ขออนุญาตนำข้อมูลความรู้เีกี่ยวกับ IO นำไปประกอบเป็นข้อมูลหลักการและเหตุผลในการเขียนโครงการประชาสัมพันธ์งานตำรวจผ่านทีวีอินเตอร์เน็ตของตำรวจภูธรจังหวัดเชีัยงใหม่นะคะ
จึงเรียนมาด้วยความเคารพ
พ.ต.ท.หญิงสุธิดา สมิทธิไกร
รรท.รอง ผกก.ฝอ.ภ.จว.เชียงใหม่
081-6813690
ครับ แต่ขอ “เน้นย้ำ” นะครับ ว่านี่ไม่ใช่หลักสากล แต่เป็น “นิยม” ในบริบทของตร.ในปี 2556-2557 เท่านั้นครับ
ขอบคุณครับ ได้ความรู้ความเข้าใจเรื่องปฏิบัติการข่าวสารที่กระจ่างขึ้นกว่าเดิมมากมายครับ ^^