ภาพและข้อความจากเว็บไซต์ https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_4340528

มากกว่าเพลงสถาบันสุนทรียะผ่านทำนอง ขับร้องเคลื่อนสังคม ปฐมบท ‘เพลงตำรวจ’
“…เกิดมาแล้วต้องตาย ชาติชายเอาไว้ลายตำรวจไทย…”
ท่อนหนึ่งจากเพลง “มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์” หรือชื่อที่ผู้คนมักเรียกด้วยความคุ้นเคยว่า “มาร์ชตำรวจ” เป็นท่อนที่ว่ากันว่าท่านอดีตอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ โปรดปรานยิ่งนัก
ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ.2485 ท่านอธิบดีฯเผ่า ศรียานนท์ เมื่อครั้งโอนย้ายจากกองทัพบก มาเป็นอธิบดีกรมตำรวจ หวังที่จะให้มีเพลงประจำหน่วยตำรวจเหมือนอย่างที่กองทัพบกมีเพลงมาร์ชกองทัพบก ท่านจึงให้เฟ้นหานักประพันธ์เพลงชั้นแนวหน้าของเมืองไทย
ซึ่งก็ได้ “ครูนารถ ถาวรบุตร” บรมครูนักแต่งเพลงในยุคนั้นมาประพันธ์ทำนองให้ และได้ “ครูแก้ว อัจฉริยะกุล” เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง

แพ้กองทัพบกไม่ได้
ปฐมบท ‘มาร์ชตำรวจ’
โดยมีเรื่องเล่ากันว่า ท่านอธิบดีเผ่าได้บอกกับครูนารถไว้ว่า สำหรับเพลงมาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์ จะให้แพ้เพลงมาร์ชกองทัพบกไม่ได้เป็นอันขาด ซึ่งในที่สุด จะแพ้หรือไม่ ไม่ทราบได้ ทราบแต่เพียงว่า ท่านอธิบดีเผ่าได้มอบเงินเป็นค่าตอบแทนให้กับครูนารถ เป็นธนบัตรปึกหนึ่ง พร้อมเขียนคำชมลงในนามบัตรพร้อมลายเซ็น มีข้อความว่า “สำหรับครู เอาไว้ให้ตำรวจดู เวลาครูเล่นไพ่”
นับจากนั้นมา เพลง “มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์” ก็ถูกใช้เป็นเพลงประจำหน่วยตำรวจ ที่ไม่ว่าจะคนที่เป็นตำรวจหรือไม่ใช่ตำรวจ ต่างก็รู้จักและถูกนำไปใช้ในวาระต่างๆ กันไป ถือว่าเพลง “มาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์” ได้ทำหน้าที่ “เพลงตำรวจ” เพลงแรก ที่รับใช้องค์กร รับใช้สังคม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ต่อมา วงดนตรี “สุนทราภรณ์” ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดเพลงสถาบัน ของเกือบทุกสถาบันในประเทศยุคนั้น ก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการรังสรรค์เพลงตำรวจในยุคต่อมา แต่ก็ยังคงเป็นเพลงที่จำกัดอยู่ในสถาบันการศึกษา นั่นก็คือสถาบันโรงเรียนนายร้อยตำรวจ


ครู (เอื้อ) ผูกพันศิษย์
แต่งเพลงแทนใจ ‘สุภาพบุรุษสามพราน’
พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล (สกพ.) ย้อนที่มาก่อนเกิดบทเพลงแทนใจตำรวจไทยว่า จากคำบอกเล่าของอดีตนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นพี่ (หรือหากจะเรียกว่ารุ่นพ่อ ก็น่าจะเหมาะสมกว่า) ว่าเมื่อประมาณปี พ.ศ.2502-2503 ครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งขณะนั้นก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นไอดอลทางดนตรี สำหรับหนุ่ม-สาวในยุคคุณพ่อ คุณลุง ได้รับคำเชื้อเชิญจาก นรต.ชุมพล อรรถศาสตร์ (ต่อมาคือ พล.ต.อ.ชุมพล อรรถศาสตร์ อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ) นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 13 ซึ่งเป็นประธานชมรมดนตรีสากลของโรงเรียนนายร้อยตำรวจในขณะนั้น ให้มาทำหน้าที่ครูสอนดนตรีสากลกับนักเรียนนายร้อยตำรวจ
ต่อมา ครูเอื้อก็ได้ประพันธ์ทำนองเพลงสามพรานขึ้นจากความผูกพัน ความเป็นครูเป็นศิษย์ระหว่างครูเอื้อกับนักเรียนนายร้อยตำรวจ ส่งผลให้เพลง “สามพราน” เป็นเสมือนตัวแทนคำบอกเล่า ความรู้สึกนึกคิด ของความเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ เสมือนเป็นตัวแทนสรุปความเป็น “สุภาพบุรุษสามพราน” ได้เป็นอย่างดี โดยในเพลงต้นฉบับซึ่งถูกบันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ.2512 มีคุณวินัย จุลละบุษปะ เป็นผู้ขับร้อง
ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน นอกจากเพลง “สามพรานแล้ว” ครูเอื้อ สุนทรสนาน และวงสุนทราภรณ์ ก็ได้ใช้โอกาสที่เข้ามาทำหน้าที่ครูดนตรีให้กับนักเรียนนายร้อยตำรวจ บรรจงประพันธ์บทเพลงสถาบันตำรวจให้กับโรงเรียนนายร้อยตำรวจอีกหลายบทเพลง ไม่ว่าจะเป็น เพลงสนสามพราน, ลาก่อนสามพราน, ลาแล้วสามพราน
หลังจากนั้นเพลงตำรวจก็ได้ถูกประพันธ์เพิ่มเติมขึ้นมาในอีกหลายยุค ทั้งยุคของ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ. พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ อดีต ผบ.ตร. รวมทั้ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีต ผบ.ตร.
นอกจากนี้ บางช่วงเวลาก็มีพี่น้องภาคเอกชนเข้ามาร่วมประพันธ์ด้วยเช่นกัน อาทิ มูลนิธิอาสาสมัคร The Family (ต่อมา เปลี่ยนเป็น iCare) ที่ทำงานร่วมกับตำรวจในการดูแลผู้ด้อยโอกาส

ฟังแล้วฮึกเหิม
ปลุกจิตวิญญาณ ‘พิทักษ์สันติราษฎร์’
แน่นอนว่า เมื่อกล่าวถึงศิลปะการดนตรี ความไพเราะของบทเพลงต้องมีสัดส่วนสำคัญ แต่สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการเป็น “เพลงสถาบัน” นั้น เรื่องความไพเราะเป็นปลายทางไม่ใช่วัตถุประสงค์หลัก
“สิ่งสำคัญก็คือต้องสร้างจิตสำนึก จิตวิญญาณ สร้างแรงบันดาลใจซึ่งตำรวจเมื่อฟังแล้ว อยากทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ดี ที่สำคัญเพลงตำรวจต้องเป็นสื่อในการสร้างจิตวิญญาณที่ดีได้ นั่นคือวัตถุประสงค์ของเพลงตำรวจ
แต่สำหรับประชาชนทั่วไป บทเพลงบางเพลงนอกจากความไพเราะของเนื้อร้อง ทำนองแล้ว การสื่อให้ประชาชนเข้าใจภารกิจ และรับรู้ถึงความทุ่มเทเสียสละ ก็น่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน” พล.ต.ท.ยิ่งยศ สื่อสารความหมายของเพลงตำรวจ ที่เป็นมากกว่าเสียงดนตรี
อย่างไรก็ตาม เพลงตำรวจที่ถูกประพันธ์ขึ้นในทุกยุค มักจะถูกประพันธ์อย่างพิถีพิถัน เปี่ยมไปด้วยสวยงามทั้งทำนอง และเนื้อร้อง ชวนดึงดูดให้ผู้ที่ได้รับฟังได้สัมผัสถึงความไพเราะ ได้รับรู้ถึงสาระของเนื้อหาที่อยู่ในเพลงไปด้วย

มาทั้งภาพ ทั้งเสียง
รีเมกใหม่ หวังจุดประกายสังคม
เพลงตำรวจชุดนี้ มีการนำเพลงตำรวจในแต่ละยุคสมัยมาคัดเลือกบรรจุไว้ จำนวนทั้งสิ้น 13 บทเพลง ใช้วงดนตรีในรูปแบบวง Pop Orchestra บรรเลงด้วยนักร้อง นักดนตรีกว่า 70 ชีวิต
และได้ ปิติ เกยูรพันธ์ และครูเต๋า-ภารดร เพ็งศิริ มาทำหน้าที่ Music Director และบันทึกภาพและเสียงที่ Studio 28 ที่เป็นห้องบันทึกเสียงสมัยใหม่และอุปกรณ์พร้อมทีมงานระดับต้นๆของเมืองไทย ที่ศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศให้ความไว้ใจทำงานใหญ่ตลอดมา
เปรียบเทียบกับบทเพลงที่ถูกบันทึกไว้ในอดีต เนื่องจากกาลเวลาที่ผ่านมา เกินกว่า 60 ปี คุณภาพการผลิต วิวัฒนาการทางดนตรี ทางการบันทึกเสียง ย่อมทำให้คุณค่าของบทเพลงเหล่านี้ ด้อยคุณค่า และยากต่อการเข้าถึงของคนรุ่นหลัง ความคิดที่จะนำบทเพลงเหล่านี้มาผลิตขึ้นใหม่ จึงเกิดขึ้น โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ อดีต ผบ.ตร. เป็นผู้อำนวยการผลิต ซึ่งเป็นการคัดเลือกรวบรวมและผลิตบทเพลงเหล่านี้ขึ้นมาใหม่
ด้วยคุณภาพเสียงที่ดี ด้วยคุณภาพการเรียบเรียงเสียงประสานในรูปแบบดนตรีที่ใหญ่ขึ้น และมีแนวทางทางดนตรีที่เป็นสากลมากขึ้น แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งแนวทางการดำเนินเนื้อร้อง และทำนองในแบบดั้งเดิม ด้วยคุณภาพนักร้องร่วมยุคสมัย และด้วยคุณภาพการบันทึกเสียง เชื่อว่าบทเพลงชุดนี้จะสามารถเข้าถึงทั้งข้าราชการตำรวจและครอบครัว รวมถึงพี่น้องประชาชน ได้อย่างง่ายๆ
“ด้วยสื่อสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางโซเชียลมีเดีย ทางยูทูบซึ่งถ้าเทียบกับสมัยก่อน เราผลิตเพลงขึ้นมา ถ้าจะเป็นเสียงก็ต้องเป็นเสียงอย่างเดียวเลย แต่นี่เราจะได้ทั้งภาพและเสียง แล้วก็ได้สื่อสารกับพี่น้องตรงทุกช่องทาง ก็คิดว่าจะทำให้การเผยแพร่ของบทเพลงชุดนี้ จะสามารถส่งตรงไปถึงพี่น้องตำรวจและครอบครัว รวมทั้งพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง”
พล.ต.ท.ยิ่งยศ เชื่อมั่นว่านอกจากจะได้ซึมซาบความไพเราะของบทเพลงแล้ว ก็ยังได้จุดประกายสร้างจิตสำนึกที่ดี สร้างแรงบันดาลใจในการทำหน้าที่ ได้อีกด้วย

ตำรวจกับดนตรี
เหตุผลที่ต้องมี ‘วงดุริยางค์’
การจัดตั้งหน่วยตำรวจ ถูกสร้างมาในบริบทของทหารตั้งแต่โบราณ ในบริบทของทหาร มีหน่วยดนตรีเพื่อประกอบพิธีการ เพื่อประกอบภารกิจด้านปฏิบัติการทางจิตวิทยา รวมถึงเพื่อสร้างความบันเทิงให้รู้สึกผ่อนคลาย
เมื่อหมดภารกิจ ตำรวจก็เช่นกัน ในเมื่อเราถูกสร้างในบริบทของความเป็นทหารมา มันก็เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี องค์กรที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม องค์กรที่เป็นการศิลปะ การดนตรี นับว่าเป็นอุบายชั้นดีของบรรพบุรษที่อยากจะเอาตรงนี้มาเป็นเครื่องมือในการสร้างแรงบันดาลใจด้วย ประกอบพิธีการด้วย และเพื่อผ่อนคลายหลังจากหมดภารกิจด้วย ตรงนี้ก็เป็นอุบายของคนรุ่นโบราณที่ยกมาให้กับพวกเรา

“แน่นอนว่า ถ้าพวกเราละเลยที่จะอนุรักษ์เรื่องเหล่านี้ มันก็เสียทีที่บรรพบุรุษอุตส่าห์สร้าง ทำให้ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเราต้องเอาบทเพลงตำรวจ มาทำขึ้นใหม่ เพื่อให้ดนตรี เพื่อให้บทเพลงตำรวจยังมีชีวิต เป็นที่รู้จัก และมีบทบาทในการรับใช้องค์กร และสังคม” พล.ต.ท.ยิ่งยศเผยความตั้งใจด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
และนี่ก็คงเป็นเหตุผลที่องค์กรแห่งนี้ ยังคงต้องมีหน่วยตำรวจที่ชื่อ “ดุริยางค์ตำรวจ” ที่ยังคงต้องสร้างสรรค์ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ด้วยเสียงเพลง ที่จะสร้างทั้งความสุข และแรงบันดาลใจแห่งการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ต่อไป

ภาพและข้อความจากเว็บไซต์ https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_4340528