ปฐมบท “ครูตำรวจต้นแบบ”
ผมว่ามัน “สุดยอดมากเลย….ที่เราได้ดู ได้เห็น ในสิ่งที่น้อยคนนักในประเทศนี้ จะมีโอกาสอย่างเรา” เสียงใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่มของพวกเราที่ผมแอบได้ยินพูดขึ้นมา ในขณะที่เราเพิ่งชม “โขนหลวง” ที่ศาลาเฉลิมกรุงจบ….ครับ ผมไม่แน่ใจเหมือนกัน ว่าใครคนใดคนหนึ่งที่พูดหน่ะ หมายความอย่างนั้นจริง ๆ หรือเพียงเพราะอยากจะแกล้งพูดให้ผมได้ยิน เป็นการเอาใจผม….แต่ยังไงก็ช่างเหอะ ผมถือว่าผมได้ทำหน้าที่ในฐานะ “ผู้นำ” ในขั้นตอนนี้เสร็จสิ้นลงแล้ว แล้วก็คงต้องเดินหน้าทำต่อ ในสิ่งที่ยังไม่ครบหลักสูตร
ครับ ผมกำลังทำหลักสูตรการ “สร้างคน” ครับ เป็นหลักสูตรที่ผมตั้งชื่อว่า “ครูตำรวจต้นแบบ” หรือชื่อเป็นภาษาต่างด้าว ให้เข้ากับบรรยากาศประชาคมอาเซี่ยนว่า “Police The Idol” (พวกครูภาษาอังกฤษ อย่าเพิ่งมาต่อว่าว่าผมใช้ภาษาผิดไวยกรณ์นะครับ…มันเป็นการเล่นคำ มันเป็นภาษาการตลาดหน่ะ)
แรงบันดาลใจ หรือ “สารตั้งต้น” ในการที่ผมทำโครงการนี้ ก็มาจากการได้นั่งสนทนาธรรมกับ “พี่โอเล่” พล.ต.อ.ไตรรัตน์ อมาตยกุล หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ เมื่อประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ พี่โอเล่ ในวันนี้ คงสะสมต้นทุนทางความคิดมาจากการที่ได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ มายาวนาน และยังได้มีโอกาส เห็นโลกทัศน์ที่กว้างไกล จากการที่ได้ตามเสด็จไปทุกที่ ดังนั้น ทุกเรื่องที่พี่โอเล่พูด ผมก็แอบเอามาจด เอามาจำ แล้วพอเรื่องไหนที่พอจะ “เข้าทาง” ของผม ผมก็จะลงมือทำทันที อย่างเรื่องโครงการนี้ก็เช่นกัน พี่โอเล่เพียงแค่จุดไฟให้ผมเห็นการที่จะสร้างตำรวจกลุ่มเล็ก ๆ ให้เป็นเหมือน Brand Ambassador ของตำรวจ ที่เข้าไปพบปะกับชุมชน เข้าไปช่วยเหลือ เข้าไปเป็นตัวแทนของตำรวจ ในการทำความดีกับประชาชน
พี่โอเล่ในวันนั้น พูดทิ้งท้ายไว้เพียงสั้น ๆ ว่าให้ไปลองทำดู ผมก็เลยเอาความคิดนั้นมาต่อยอด แล้วก็ทำเป็นโครงการ “ครูตำรวจต้นแบบ” ขึ้น….และนั่นก็เป็นปฐมบทของการเริ่มต้นโครงการ “ครูตำรวจต้นแบบ” “Police The Idol” ของตำรวจสระแก้ว !
24 มิถุนายน 2558 05.00 น. เรานัดรวมตัวกันที่ “ตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว” ฐานที่มั่น ที่เป็นดั่งจุดศูนย์กลางของการบริหารราชการ ของตำรวจกว่า 1,200 คน ที่ทำหน้าที่ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ของจังหวัดท้ายซอย “สระแก้ว” รองอภิรักษ์ (พ.ต.อ.อภิรักษ์ เวชกาญจนา รองผบก. ฯ) ซึ่งทำหน้าที่ “อาจารย์ใหญ่”ของทริปประวัติศาสตร์นี้ คอยทำหน้าที่ตรวจเช็คความเรียบร้อย ความพร้อมของเครื่องอุปกรณ์ และกำชับการปฏิบัติตัวในการเดินทาง ทำหน้าที่อย่างสมบทบาทการเป็นอาจารย์ใหญ่…..05.30 น. เมื่อคนพร้อม รถพร้อม ของพร้อม ตำรวจสระแก้ว 30 ชีวิต ซึ่งประกอบไปด้วยครูต้นแบบในโครงการ 20 นาย และผู้บังคับบัญชา รวมทั้งทีมงานรวม 10 นาย ออกเดินทางด้วยรถยนต์ตู้ของทางราชการ 4 คัน เริ่มเคลื่อนตัวออกจากที่ตั้ง มุ่งหน้าสู่ อ.ชะอำ จว.เพชรบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่หมายที่เรากำลังจะไปศึกษาดูงานเป็นแห่งแรก นั่นคือ “ค่ายนเรศวร” หรือ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวณชายแดน (บก.สอ. ตชด.)
11.00 น. เรามาถึง “ค่ายนเรศวร” ตรงเวลานัดหมายเป๊ะ….ดินฟ้าอากาศ เหมือนจะเป็นใจ ฝนไม่ตก แดดไม่ร้อน ลมเย็น ๆ โชยมาตลอด แม้จะเป็นเวลาใกล้เที่ยง แต่บรรยากาศในวันนั้นไม่ทำให้เรารู้สึกว่ายืนอยู่กลางสนามฝึกกลางแจ้งเลย ….ด่านแรกที่พวกเรามาศึกษาแบบแผน “ต้นแบบ” ของการเป็นครูก็คือ การทำหน้าที่ครูของนักเรียนหลักสูตรหลักของค่ายนเรศวร ในการสอนยิงปืน “ครูตำรวจต้นแบบ” ของผม เริ่มชักสมุดโน้ต ซึ่งได้รับแจกไป มาจดบันทึกตามคำบอกเล่าของครูฝึก…บทเรียนที่หนึ่งเริ่มต้นขึ้นแล้ว นั่นคือ การฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี นั่นคือการใส่ใจฟัง ใส่ใจจดบันทึก ตามที่ผู้บรรยายสาธยายความให้ฟัง
เราจบบทที่หนึ่งกันที่เวลา 12.15 น. หลายคนยังรู้สึกไม่สะใจกับบทเรียนที่หนึ่ง แต่เวลาอาหารมาถึงแล้ว กองทัพต้องเดินด้วยท้อง …พวกเราเคลื่อนขบวนออกจากสนามฝึก ไปรับประทานอาหารกลางวันกันแบบง่าย ๆ ที่บริเวณหน้าค่ายพระรามหก ซึ่งใช้เวลาเดินทางไม่ถึงห้านาที ก็มาถึงแล้ว อาหารมื้อนี้ เดิมทีผมตั้งใจให้ทุกคนมาลิ้มลอง “ผัดไทกุ้งใหญ่” อาหารเลื่องชื่อของร้านนี้ แต่เกิดการสื่อสารกันผิด กุ้งใหญ่หลายจาน โดยเฉพาะคนมาถึงชุดแรก ๆ เกิดการหดตัว เหลือเป็นกุ้งเล็กแทน แต่สำหรับกลุ่มสุดท้ายที่มาถึง ก็โชคดีไป ได้รับประทานผัดไทกุ้งใหญ่ตามวัตถุประสงค์ของผม
เรากลับมาเริ่มบทเรียนบทที่สองกันที่เวลา 13.30 น. โดยกลับมาที่ค่ายนเรศวรภายในศูนย์ฝึก ซึ่งมีห้องเรียนปรับอากาศอย่างดี ในช่วงบ่ายนี้ เราได้รับการถ่ายทอดจิตวิญญาณความเป็นครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายทอดถึงศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจตระเวณชายแดน ตำรวจหน่วยรบพิเศษของค่ายนเรศวร ซึ่งมี พ.ต.ท.อธิวัฒน์ ลาสุทธิ ผบ.ร้อย ปฏิบัติการพิเศษที่ 1 กก.3 บก.สอ.ตชด. และ ร.ต.ท.ชูชาติ นามจัด ผบ.หมู่ สังกัดเดียวกัน ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวของตำรวจพลร่มให้กับพวกเราฟังอย่างภาคภูมิใจในความเป็นตำรวจพลร่ม ที่ถึงแม้จะหนัก จะเหนื่อย จะเสี่ยง และความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก แต่ความที่หยิ่งทรนงในศักดิ์ศรี เกียรติศักดิ์ ทำให้พวกเขา ยังคงเดินหน้าทำตามอุดมการณ์โดยที่จะไม่ยอมขอย้ายหนีไปที่ไหน
15.30 น. พล.ต.อ.ไตรรัตน์ อมาตยกุล หน.นรป. ต้นความคิดของโครงการนี้ เดินทางจากกรุงเทพ ฯ เพื่อมาพบปะพูดคุยกับพวกเราโดยเฉพาะ ท่านใช้เวลาอยู่กับพวกเราเกือบสองชั่วโมง ซึ่งเวลาเกือบสองชั่วโมงที่ท่านพูดมาแต่ละคำ แต่ละประโยค ดูจะมีคุณค่ากับพวกเราอย่างมาก หลายคนก้มหน้าก้มตาจด “ข้อคิด คำคม” ท่ีท่านนำมาปลุกระดมความคิดให้กับพวกเรา ให้ได้คิด ให้ลงมือปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัติในแง่ของการเป็น “ข้าราชการตำรวจ” ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กิจกรรมในวันนี้ จบลงที่การรับประทานอาหารเย็นอย่างง่าย ๆ ร่วมกันในค่ายนเรศวร ซึ่งนอกจากจะรับประทานอาหารเย็นร่วมกันแล้ว เราก็มีกิจกรรมสนุกสนานร่วมกันอีกด้วย นัยว่าเป็นการหลอมรวมให้กลุ่มของพวกเรา “ครูตำรวจต้นแบบ” ของตำรวจสระแก้ว เป็นเนื้อเดียวกัน
ท่องยุทธจักรโล่เงิน
วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน 2558 08.30 น. หลังจากที่พวกเรารับประทานอาหารเช้าริมทะเลชายหาดชะอำ ณ ค่ายพระรามหก ซึ่งเป็นที่พักของพวกเราเรียบร้อยแล้ว เราก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ “กรมปทุมวัน” สำนักงานตำรวจแห่งชาติทันที วันนี้ ผมมีวัตถุประสงค์ ให้เราได้เข้ามาทำความรู้จักกับ “สำนักงานใหญ่” ของพวกเรา ซึ่งเป็นที่รวมของเหล่าผู้บังคับบัญชาระดับสูง ซึ่งผมอยากให้พี่น้องครูตำรวจต้นแบบของผม ได้มาสัมผัสตัวตนจริง ๆ ของผบ.ตร. ได้มาสัมผัสกับบรรยากาศของตึกบัญชาการ ของห้องปฏิบัติการ สัมผัสกับชีวิตของพี่น้องตำรวจที่กำลังทำหน้าที่ ณ ศูนย์กลางการบริหารงานของตำรวจไทยแห่งนี้
สิบเอ็ดนาฬิกาเศษ ๆ พวกเราเข้ามาถึงภายในรั้วของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากผมประสานงานในการเข้าพบผู้นำสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ซึ่งในวันนั้น เป็นวันที่ท่านผบ.ตร. มีประชุม ก.ตร. พอดี และดูเหมือนตารางภารกิจของท่านจะเต็มทั้งวัน ดังนั้น โอกาสที่ผมจะพาบรรดาครูตำรวจต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการ เข้าพบกับท่านจึงดูจะริบหรี่เต็มที แต่แล้ว เวลาประมาณเที่ยงครึ่ง ผมก็ได้รับสัญญาณที่ดีมาว่า ท่านผบ.ตร. เสร็จภาระกิจแล้ว และกำลังจะกลับมาที่ห้องทำงาน ผมไม่รอช้า ที่จะพา พวกเรา มาดักตรงทางที่ท่านผบ.ตร. ต้องเดินผ่าน (นัยว่า ถ้าท่านเดินผ่าน เห็นแถวตำรวจท้ายซอยสระแก้วของผม ยืนเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ ยังไงท่านก็ต้องหยุดทักทายพวกเราจนได้…และนั่นมันเป็นแผนของผมเอง…ว.5 นะครับพี่น้องงงงง ! 555 ) แล้วก็เป็นไปตามแผนการณ์ที่ผมวางไว้จนได้ แต่ยังไงซะ เพื่อไม่ให้เสียมารยาท ผมได้เรียนบรรดา เพื่อนพ้องน้องพี่ที่อยู่หน้าห้องท่านเอาไว้ล่วงหน้าแล้วนะครับ ผมคงไม่บังอาจทำโดยพลการ (แต่ก็มีพี่น้องบางคน ทำท่าอารมณ์เสีย ส่ายหน้าว่าไร้สาระ รบกวนเวลาท่าน…แหม ช่างไม่เห็นใจตำรวจน้อย ๆ บ้างเลย แล้วก็ช่างไม่รู้จักสร้างคะแนนเสียงให้กับนายเลย จริง ๆ ภารกิจอย่างนี้ ถ้าลิ่วล้อหน้าห้องคิดละเอียดซะหน่อย จะต้องจัดให้ผบ.ตร.เข้ามาทักทาย จัดช่างภาพผู้สื่อข่าวมาถ่ายรูป…เป็นมุมน่ารักของผบ.ตร.ที่น้อยคนจะคิดได้….เห้อ !)
และแล้ว เวลาเที่ยงครึ่งโดยประมาณ ท่านผบ.ตร. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ก็ออกจากประตูลิฟต์อาคาร 1 ชั้น 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานของท่าน แล้วก็มาเจอกับผมเข้าพอดี ผมอาศัยช่วงชุลมุน สรุปเหตุการณ์ที่ตำรวจ “บ้านนอก” สระแก้ว ยกขบวนตบเท้ามาดักรอเจอท่าน เล่าเรื่องราวความเป็นมาจนจบได้ภายใน 20 วินาที ผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมามากอย่างท่านผบ.ตร. ฟังไม่กี่ประโยคก็เข้าใจได้ว่าพวกเรากำลังทำอะไรกัน ท่านปรี่เข้ามาทักทายตบหลังตบไหล่พวกเรา พูดเล่นหยอกเอิน ให้กำลังใจพวกเรา อย่างไม่ถือเนื้อถือตัว และนี่ก็เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ผมคิดว่าคนที่จะก้าวเป็น “ผู้นำ” พึงจดจำไว้เป็นเยี่ยง
พวกเรามีโอกาสสนทนาวิสาสะกับท่านผบ.ตร. ได้เกือบสิบนาที ซึ่งผมถือว่านานมากสำหรับบุคคลระดับสูงที่มีภารกิจล้นมือ และก็ถือได้ว่าเป็นความคุ้มค่าของพวกเรา ที่ครั้งหนึ่งนอกจากได้มาเยือนสถานที่ที่ถือเป็น “สำนักงานใหญ่” ของพวกเราแล้ว พวกเรายังมีโอกาสพบกับผู้นำสูงสุดของที่นี่อีกด้วย ซึ่งหลังจากพบกับท่านผบ.ตร. ผมยังไม่หยุดยั้งอยู่แค่นั้น ยังคงสอดส่ายสายตา หาผู้บังคับบัญชาระดับพลตำรวจเอก เผื่อว่ามีท่านใดอยู่บ้าง ก็จะได้หาโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะให้ครบถ้วน แต่เนื่องจากว่าเป็นเวลาเกือบบ่ายโมงแล้ว และที่สำคัญหลายท่านต้องรีบไปประชุม “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” พวกเราก็เลยไม่มีโอกาสได้พบใครมากนัก คงจะมีก็แต่ “พี่เอก” พลตำรวจเอก เอก อังสนานนท์ ท่านรองผบ.ตร. ที่ก็กำลังจะออกไปประชุม สนช. อยู่พอดี แต่ท่านก็ยังมีเมตตา มาพูดคุยวิสาสะ ให้กำลังใจ ให้แรงบันดาลใจกับพวกเรา ซึ่งพวกเราก็รู้สึกได้ในความเมตตาที่ท่านมีกับพวกเรา
หลังจากนั้น ผมพาบรรดาครูตำรวจต้นแบบของผม มารู้จักชีวิตจริง ๆ ของ “ตำรวจในกรม” ว่าเค้ากินอยู่กันยังไง ด้วยการพามารับประทานอาหารที่ “โภชนาคาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ซึ่งเป็นการรับประทานอาหารแบบ “บริการตนเอง” (Self-Service) ซึ่งหลายคนที่มาจากสระแก้วบ้านเรา ยังไม่เคยได้รับรู้วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนที่ต้องทำงานอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งตัวผมเอง เคยใช้ชีวิตที่นี่มาแล้วกว่า 8 ปี และในขณะเดียวกัน จะมีใครในพวกเราบ้างไหม ที่จะรู้ว่า คนที่นี่เค้าอยากไปมีชีวิตเหมือนอย่างพวกเราที่จังหวัดท้ายซอยสระแก้วบ้านเราหน่ะ ซึ่งผมในฐานะที่อยู่มาแล้วทั้งสองที่ ยืนยันได้เลยว่า คนที่นี่จำนวนไม่น้อย ซึ่งหมายถึงที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เค้าอิจฉา และอยากมีชีวิตอย่างพวกเราครับ….ฟันธง
13.30 น. พวกเรามีนัดกับ “กองการต่างประเทศ” เพื่อมาท่องโลกกว้าง ฟังเรื่องโลก เรื่องประชาคมอาเซี่ยน ฟังเรื่องการก่อการร้ายสากล และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำงานกัน ซึ่งก็ได้น้องรัก พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ ผู้กำกับการฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 1 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นน้อง (นรต.48) ผู้ซึ่งมีดีกรีปริญญาเอกทางกฏหมายจากประเทศออสเตรเลีย มาบรรยายความให้พวกเราฟัง อย่างไม่เสียดายความรู้ ไม่เสียดายเวลา พวกเรามีเวลาอยู่กับ “ดร.แจ๊ค” จนถึงเวลา 15.00 น. ก็ต้องรีบย้ายที่ เนื่องจากมีนัดที่จะขึ้นไปดูศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ที่ตั้งอยู่บนชั้น 20 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
15.00 น. ผมนำคณะครูตำรวจต้นแบบ ขึ้นมาที่ชั้น 20 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง พ.ต.อ.ณรงค์รัตน์ พิชัยณรงค์ รองผู้บังคับการกองงบประมาณ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นพี่ (นรต.39) รอต้อนรับพวกเราอยู่แล้ว และหลังจากบรรยายสรุปภารกิจของศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสร็จ ก็ถึงเวลาที่พวกเราจะเดินชมการทำงานของศปก.ตร. พวกเราหลาย ๆ คน ตื่นตาตื่นใจกับภาพการทำงานที่ไม่เคยมีโอกาสเห็นมาก่อน พวกเราหลายๆ คนตื่นเต้นกับการที่ได้มาทดลองนั่งประชุมบนโต๊ะประชุม ในห้องประชุมทางไกล และบนเก้าอี้ตัวเดียวกันกับที่ผู้บริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั่นประชุม ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ไม่สามารถหาได้ง่าย ๆ
16.00 น. พวกเรามีนัดกับ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นพี่ของผม (นรต.38) อดีตโฆษกคนเก่ง ที่มีดีกรี “นักเรียนป้ายทอง” ของนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 22 และได้รับทุนเล่าเรียนจนจบปริญญาเอก ในฐานะได้คะแนนสอบเป็นที่ 1 ของนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 38 และเมื่อสองปีที่ผ่านมา ท่านยังได้รับรางวัง “เกียรติยศจักรดาว” ในฐานะ ศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนเตรียมทหาร…ดีกรียาวเหยียดอย่างนี้ มีหรือที่ผมจะพลาดที่จะให้พวกเราได้พบ ซึ่งวันนี้ “ดอกเตอร์ปิยะ” จะมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเรา ด้วยการบอกเล่า “ปูมหลัง” ของตำรวจไทย ให้พวกเราได้ฟัง
เวลากว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที ทำให้พวกเราบางคนถึงกับนั่งไม่ติด ด้วยลีลาการเล่าเรื่องของอาจารย์ปิยะ ได้ดึงความรู้สึกของพวกเราดำดิ่งเข้าไปในอดีต ได้รับรู้ความเป็นมาเป็นไปกับเรื่องราวของอาชีพ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ของพวกเรา และที่สำคัญ อาจารย์ปิยะยังได้สอดแทรกข้อคิด อุดมการณ์ และแรงบันดาลใจให้กับพวกเรากลับไปทำหน้าที่ “พิทักษ์สันติราษฎร์” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
เราจบภารกิจวันนี้ ด้วยการมารับประทานอาหารเย็นกันที่ร้าน “ผลเจริญ” กับข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง อาหารประจำชาติ ข้างสนามมวยราชดำเนิน ก่อนที่จะเข้าชมการแข่งขันชกมวยที่เวทีราชดำเนิน ซึ่งก็ได้รับอภินันทนาการจากนายสนามมวยราชดำเนิน ให้พวกเราได้เข้าไปนั่งชม ไปสัมผัสแม่ไม้มวยไทยถึงขอบเวที กันแบบที่เห็นกันจะจะ ซึ่งหลาย ๆ คนเคยแต่ดูผ่านทางจอตู้ ก็พลอยรู้สึกตื่นเต้นกับการเข้ามาได้สัมผัสกับการประลองกำลังแบบแม่ไม้มวยไทยกันแบบจริง ๆ กับตาตัวเอง
สูบฉีดเลือด แดง ขาว น้ำเงิน
กิจกรรมวันที่ 3 ของเรา เริ่มที่เวลา 09.00 น. ของวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2558 ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ผมตั้งใจพาพวกเรามาสูบฉีดเลือด แดง ขาว น้ำเงิน ซึ่งพวกเราได้รับความกรุณาจากคุณชนกณัฐ สิมพะลิก หรือคุณน้องเชอรี่คนสวย จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทีมงานอีกมากมาย ในการพาพวกเราสัมผัสความเป็นไทย สัมผัสกับความเป็นชาติ ซึ่งยึดโยงกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยที่แรกที่เราได้ไปรับรู้แบบถึงแก่นก็คือ “วัดเทพธิดาราม” วัดหลวงใจกลางพระนคร ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ใจกลางเมืองหลวง แต่ผมว่าคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่เคยได้มาสัมผัส หรือแม้เคยเข้ามาแล้วแต่ยังไม่เคยได้รู้ประวัติ และความสำคัญของวัดแห่งนี้
โชคดียิ่งกว่านั้น วันที่พวกเรามาทัศนศีกษาที่นี่ บังเอิญเป็น “วันสุนทรภู่” และวัดเทพธิดาราม ก็ถือเป็นวัดสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับท่าน “สุนทรภู่” นั่นก็คือเป็นวัดที่ท่านมาจำพรรษาระหว่างบวช ซึ่งทางวัดก็ได้อนุรักษ์กุฎิที่ท่านเคยจำพรรษา พร้อมกับเครื่องใช้ไม้สอยที่ท่านเคยใช้ และแน่นอน พวกเราก็เลยได้มีโอกาสมาร่วมงานวันสุนทรภู่ ซึ่งจัดขึ้นในวัดเทพธิดารามนั่นเอง
และวัดต่อมา ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียว จนหลายคนแทบจะแยกแยะไม่ออก นั่นก็คือวัดราชนัดดาราม ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “โลหะปราสาท” อันงดงาม พวกเรามีโอกาสเข้ามาสัมผัสแบบเจาะลึกถึงความเป็นมาเป็นไปของวัด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโลหะปราสาท พวกเรามีโอกาสขึ้นบันได้น่าจะเกินร้อยขั้น เพื่อขึ้นไปบนยอดของโลหะปราสาท แต่ก็น่าเสียดายนิดหนึ่งตรงที่ว่า โละหะปราสาทบางส่วนอยู่ระหว่างบูรณะ แต่สิ่งที่พวกเราได้สัมผัส ก็เกินพอแล้วสำหรับความสวยงามที่พวกเราไม่เคยได้มีโอกาสได้สัมผัสมาก่อน
สิ่งที่ผมอยากจะกล่าวในที่นี้ก็คือในเรื่องของความ “เป็นชาติ” ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่างที่มาสร้างความเป็นชาติจนมาถึงทุกวันนี้ และแน่นอนศาสนารวมถึงโบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญทางศาสนา ก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ ที่ทำให้ชาติของเรา ยังคงเป็นชาติที่ “เข้มแข็ง” มาจนทุกวันนี้ แม้ว่าจะผ่านเหตุการณ์ร้าย ๆ ร้อนมากบ้าง หนาวมากหน่อย แต่ชาติเราก็ยังคงเป็นชาติมาได้ นั่นเพราะเรามี “แก่นสารและจิตวิญญาณ” ของความเป็นชาติ และวันนี้ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ ว่าวัด โบราณสถาน โบราณวัตถุ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และในต่างจังหวัด หลายแห่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ที่อาจจะทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ได้ถูกบูรณะขึ้นอย่างมาก โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ….ผมแน่ใจว่าหลายคนไม่เคยรู้มาก่อน และนั่น ผมคิดว่า คือการทำงานแบบ “ปิดทองหลังพระ” ซึ่งก็คือปรัชญาการทำงานที่สำคัญ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสหลายครั้ง ในหลายโอกาส ….ขอบพระคุณหน่วยงานสำคัญแห่งนี้ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่รับผิดชอบและทีมงานของคุณชนกณัฐ สิมพะลิก ที่เป็นกำลังสำคัญในการทำหน้าที่ “ปิดทองหลังพระ” กับภารกิจที่สำคัญยิ่งนี้
12.00 น. หลังจากพวกเรารับประทานอาหารที่วัดราชนัดดากันแบบเร่งรีบ เนื่องจากมีนัดที่จะไปทัศนศีกษากันที่ “นิทรรศน์รัตนโกสินทร์” พิพิธภัณฑ์แนวใหม่ บนถนนราชดำเนินกลาง เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งอยู่ติด ๆ กับรั้วของวัดราชนัดดานั่นเอง และที่นี่ ก็เป็นที่ทำให้พวกเรา “ตื่นตาตื่นใจ” อีกแล้ว เนื่องจากเป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชาติ ในรูปแบบที่พวกเราคาดไม่ถึงมาก่อน ทั้งในส่วนที่เป็นแสง สี เสียง ส่วนที่เป็น Multivision และอีกหลาย ๆ ส่วนที่ทำให้เราเข้าใจ และภูมิใจในการหล่อหลอมประวัติศาสตร์ที่ทำให้ชาติเรายังคงยืนหยัดเป็นชาติได้จนทุกวันนี้
15.30 น. เราต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา “อีกแล้ว” ด้วยมีนัดที่จะไปดูกิจการของ “โรงเรียนพระดาบส” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thairath.co.th/content/378744 ) แน่นอนว่า พวกเราเกือบทั้งหมด ยังคง “จินตนาการไม่ถูก” ว่าสถานที่แห่งนี้คืออะไร แล้วเราจะมาที่นี่กันทำไม….และแน่นอน หลังจากจบภารกิจดูงานซึ่งกินเวลาเกือบสองชั่วโมงที่นี่ ก็ทำให้พวกเราหูตาสว่างขึ้น ได้รับรู้ว่าที่นี่ ก็คืออีกหนึ่งใน “งานส่วนพระองค์” ที่ต้องการสร้างอาชีพให้กับเยาวชนด้อยโอกาส ด้วยวิธีการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติอย่างแท้จริง ซึ่งก็นับเป็นอีกหนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานมาให้คนด้อยโอกาสแบบที่พวกเรา “คาดไม่ถึง” ว่าจะมีเรื่องดี ๆ อย่างนี้ อยู่ในอีกมุมหนึ่งของกรุงเทพ ฯ เมืองใหญ่ที่มีแต่ภาพความวุ่นวาย
หลังจากนั้น คุณน้องเชอรี่ หรือคุณชนกณัฐ สิมพะลิก คนเก่งแห่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็เชื้อเชิญให้พวกเรา ได้เข้ามาซึมซับถึงโบราณสถานอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในรั้วของสำนักงานทรัพย์สิน ฯ ซึ่งที่นั่นนอกจากพวกเราได้ดื่มด่ำกับประวัติศาสตร์ของอาคารรูปทรงยุโรปที่ชื่อ “วังลดาวัลย์” แล้ว พวกเรายังได้รับความกรุณา จัดของว่างรองท้อง หลังจากเหน็ดเหนื่องกับการดูงานทั้งวันแบบที่เรียกว่าเร่งรีบไม่ให้ทุกนาทีเสียไปเปล่า ๆ ความร่มเย็น ความสวยงามของสถานที่แห่งนี้ ทำให้พวกเราหลายคนถือโอกาส “เซลฟี่” กันแบบไม่อายว่าอายุตัวเอง ผ่านหลักสี่มาแล้วหลายกิโล
หลังจากนั้น พวกเราก็ต้องรีบ “อีกแล้ว” ข้ามมาอีกฝั่งหนึ่งของถนนเพื่อเข้าชมกิจการของสถานีวิทยุจราจรเพื่อสังคม F.M.99.5 (http://www.trs995.com) สถานีวิทยุซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาจราจร ของคนเมืองหลวงและปริมณฑล ซึ่ง ณ ที่แห่งนี้ ผมเองก็อยู่ในส่วนหนึ่งของการ “ก่อร่างสร้างตัว” เมื่อประมาณ ห้าปีที่แล้ว สมัยเมื่อดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการกองสารนิเทศ และทุกวันนี้ ก็ยังมีโอกาสเข้ามาช่วยงานบ้างเป็นครั้งคราว แต่ที่สำคัญ และเป็นความภูมิใจของผมก็คือ ผมเป็นคนแต่งเพลงประจำสถานีวิทยุแห่งนี้เอง และยังร่วมจัดรายการบางรายการอีกด้วย…ลองฟังดูครับ
หลังจากเสร็จสิ้นการดูงาน F.M.99.5 แบบ “เลิ่กลั่ก” พวกเราก็เคลื่อนย้ายกันมาที่ ศาลาเฉลิมกรุง สถานที่สำคัญอีกแห่ง ที่อยู่ในการอนุรักษ์ ในการดูแลของสำนักงานทรัพย์สิน ฯ อีกแห่งหนึ่ง เรามีนัดกันที่นี่ เพื่อมาชมศิลปะการแสดงที่สำคัญของชาติ นั่นคือ “โขนหลวง” ซึ่งแน่นอน พอบอกว่าจะมาชมโขนที่นี่ หลายคนเริ่มมีอาการ “ง่วงไว้ก่อน” แต่พอเอาเข้าจริง ๆ แล้ว ตั้งแต่โขนเริ่มแสดง 19.30 น. จนจบที่ 21.30 น. พวกเรากลับรู้สึกตื่นตาตื่นใจ กับสิ่งที่พวกเรา “คาดไม่ถึง” (อีกแล้ว) ทั้งแสง สี เสียง อุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ ถูกขนมาร่วมกับการแสดงศิลปะของชาติ แบบจัดเต็มได้อย่างกลมกลืน ทำให้โขนเรื่อง “หนุมาน” ในวันนั้น เป็นบทจบของการดูงานของพวกเราในช่วงสามวันนี้ ได้อย่างประทับใจไปอีกนาน
และทั้งหมด ก็เป็นเพียงปฐมบทของการสร้าง “ครูตำรวจต้นแบบ” โครงการของตำรวจสระแก้วที่จะสร้าง “คนดี คนเก่ง” เพื่อมาทำหน้าที่ “ตอบแทนคุณแผ่นดิน” เพื่อมาทำหน้าที่ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” มืออาชีพ และเพื่อมาทำหน้าที่ เป็นตัวอย่างที่ดีงามให้กับพี่น้องตำรวจด้วยกัน และกับประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นเพียงบทที่หนึ่งของการสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับพวกเรา ในบทต่อไป พวกเราคงจะต้องใส่เนื้อหาเข้าไปอีกหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งผมก็เชื่อมั่นว่า ในท้ายที่สุด พวกเราที่ถูกคัดเลือกมา จะทำหน้าที่ “ครูตำรวจต้นแบบ” ของตำรวจสระแก้ว ได้อย่าง…เต็มภาคภูมิ …แล้วผมจะมาเล่าให้ฟังใหม่นะครับ
สุดยอด สำหรับกระบวนคิด แนวทางดำเนินการ และปฐมบท
ขออำนวยพรให้สำเร็จสมดังปราถนาครับ
วุฒิ พัวเวส
อยากบอกเพื่อนว่า ควรอย่าไปชมมวย เลี้ยงลูกศิษย์อย่าให้กินของดี ให้จ่ายเป็นเงิน
อดีต นรต.พงษ์รวี มีถาวร เพื่อนร่วมรุ่น
ร.ท พงษ์รวี กองทัพบกไทย
ไลน์ yinyana